เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 10. อปัณณกสูตร

โทษแห่งการปฏิบัติผิด

[101] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของ
สมณพราหมณ์เหล่านั้น สมณพราหมณ์เหล่าใดผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘ความเศร้าหมองของสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองเอง
ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์เอง ไม่มี
กำลัง ไม่มีความเพียร ไม่มีความสามารถของมนุษย์ ไม่มีความพยายามของมนุษย์
สัตว์ ปาณะ ภูตะ ชีวะทั้งปวง ล้วนไม่มีอำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ผันแปรไป
ตามโชคชะตา ตามสถานภาพทางสังคมและตามลักษณะเฉพาะตน ย่อมเสวยสุขและ
ทุกข์ในอภิชาติทั้ง 6’ สมณพราหมณ์เหล่านั้นพึงหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นกุศลธรรม
3 ประการนี้ ได้แก่ (1) กายสุจริต (2) วจีสุจริต (3) มโนสุจริต จักสมาทาน
อกุศลธรรม 3 ประการนี้ ได้แก่ (1) กายทุจริต (2) วจีทุจริต (3) มโนทุจริต แล้ว
ประพฤติอยู่
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น ไม่เห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมอง
แห่งอกุศลธรรม ไม่เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรม
อนึ่ง เหตุมีอยู่ แต่เขากลับเห็นว่า ‘เหตุไม่มี’ ความเห็นนั้นของเขาจึงเป็นมิจฉา-
ทิฏฐิ เหตุมีอยู่ แต่เขาดำริว่า ‘เหตุไม่มี’ ความดำรินั้นของเขาจึงเป็นมิจฉาสังกัปปะ
เหตุมีอยู่ แต่เขากล่าวว่า ‘เหตุไม่มี’ วาจานั้นของเขาจึงเป็นมิจฉาวาจา ‘เหตุมีอยู่’
เขากล่าวว่า ‘เหตุไม่มี’ ผู้นี้ย่อมทำตนให้เป็นข้าศึกกับพระอรหันต์ผู้เป็นเหตุกวาทะ
เหตุมีอยู่ เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า ‘เหตุไม่มี’ การที่เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจเช่นนั้น
เป็นการทำให้เข้าใจผิดจากความเป็นจริง และเขายังจะยกตนข่มผู้อื่นด้วยการทำให้
เข้าใจผิดจากความเป็นจริงนั้น โดยนัยนี้ เริ่มต้นเขาก็ละทิ้งความเป็นผู้มีศีลดีงามแล้ว
ตั้งตนเป็นคนทุศีล เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย บาปอกุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านี้
คือ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา ความเป็นข้าศึกกับพระอริยะ การทำให้
ผู้อื่นเข้าใจผิดจากความเป็นจริง การยกตน การข่มผู้อื่น ย่อมเกิดขึ้น ด้วยประการ
อย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :107 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 10. อปัณณกสูตร

พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น วิญญูชน
ย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘ถ้าเหตุไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้ หลังจาก
ตายแล้ว จักทำตนให้มีความสวัสดีได้ ถ้าเหตุมีอยู่จริง เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษ
บุคคลนี้ หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก’ ถ้ายอมรับว่า
เหตุไม่มีจริง คำของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด เมื่อเป็น
เช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ย่อมถูกวิญญูชนติเตียนได้ในปัจจุบันว่า ‘เป็นบุรุษบุคคลผู้ทุศีล
เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นอเหตุกวาทะ’ ถ้าเหตุมีอยู่จริง บุรุษบุคคลนี้จะได้รับโทษในโลก
ทั้ง 2 คือ (1) ในปัจจุบันถูกวิญญูชนติเตียนได้ (2) หลังจากตายแล้ว จักไปเกิด
ในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อย่างนี้
อปัณณกธรรมนี้ ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์ไม่ดี แพร่ดิ่งไปฝ่ายเดียว ย่อมละ
เหตุที่เป็นกุศล ด้วยประการอย่างนี้

คุณแห่งการปฏิบัติชอบ

[102] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
สมณพราหมณ์เหล่าใดผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ความเศร้าหมองของสัตว์
ทั้งหลายมีเหตุ มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายจึงเศร้าหมอง ความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย
มีเหตุ มีปัจจัย สัตว์ทั้งหลายจึงบริสุทธิ์ มีกำลัง มีความเพียร มีความสามารถของ
มนุษย์ มีความพยายามของมนุษย์ สัตว์ ปาณะ ภูตะ ชีวะทั้งปวง ล้วนไม่มีอำนาจ
ไม่มีกำลัง ไม่มีความเพียร ผันแปรไปตามโชคชะตา ตามสถานภาพทางสังคมและ
ตามลักษณะเฉพาะของตน ย่อมไม่ได้เสวยสุขและทุกข์ในอภิชาติทั้ง 6’ สมณพราหมณ์
เหล่านั้นพึงหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นอกุศลธรรม 3 ประการนี้ ได้แก่ (1) กายทุจริต
(2) วจีทุจริต (3) มโนทุจริต จักสมาทานกุศลธรรม 3 ประการนี้ ได้แก่ (1) กายสุจริต
(2) วจีสุจริต (3) มโนสุจริต แล้วประพฤติอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :108 }