เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 10. อปัณณกสูตร

คุณแห่งการปฏิบัติชอบ

[99] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
สมณพราหมณ์เหล่าใดผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้
ผู้อื่นทำ ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ทำให้เศร้าโศกเอง
ใช้ให้ผู้อื่นทำให้เศร้าโศก ทำให้ลำบากเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ใช้ให้
ผู้อื่นทำให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ตัดช่องย่องเบา ปล้น
เรือนหลังเดียว ดักจี้ในทางเปลี่ยว เป็นชู้ พูดเท็จ ผู้ทำ(เช่นนั้น)จัดว่าทำบาป
แม้หากบุคคลใช้จักรมีคมดุจมีดโกนสังหารเหล่าสัตว์ในปฐพีนี้ให้เป็นดุจลาน
ตากเนื้อ ให้เป็นกองเนื้อเดียวกัน เขาย่อมมีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น มีบาปมาถึงเขา
แม้หากบุคคลไปฝั่งขวาแม่น้ำคงคา ฆ่าเอง ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ตัดเอง ใช้ให้ผู้อื่นตัด
เบียดเบียนเอง ใช้ให้ผู้อื่นเบียดเบียน เขาย่อมมีบาปที่เกิดจากกรรมนั้น มีบาป
มาถึงเขา
แม้หากบุคคลไปฝั่งซ้ายแม่น้ำคงคา ให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่น
บูชา เขาย่อมมีบุญที่เกิดจากกรรมนั้น มีบุญมาถึงเขา ย่อมมีบุญที่เกิดจากการ
ให้ทาน จากการฝึกอินทรีย์ จากการสำรวม จากการพูดคำสัตย์ มีบุญมาถึงเขา’
สมณพราหมณ์เหล่านั้นพึงหวังข้อนี้ได้ คือ จักเว้นอกุศลธรรม 3 ประการนี้ ได้แก่
(1) กายทุจริต (2) วจีทุจริต (3) มโนทุจริต จักสมาทานกุศล 3 ประการนี้ ได้แก่
(1) กายสุจริต (2) วจีสุจริต (3) มโนสุจริต แล้วประพฤติอยู่
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้น เห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่ง
อกุศลธรรม เห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :104 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [1. คหปติวรรค] 10. อปัณณกสูตร

อนึ่ง การกระทำมีผล เขาเห็นว่า ‘การกระทำมีผลจริง’ ความเห็นนั้นของเขา
จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ การกระทำมีผลจริง เขาดำริว่า ‘การกระทำมีผลจริง’ ความ
ดำรินั้นของเขาจึงเป็นสัมมาสังกัปปะ การกระทำมีผลจริง เขากล่าวว่า ‘การกระทำ
มีผลจริง’ วาจานั้นของเขาจึงเป็นสัมมาวาจา การกระทำมีผลจริง เขากล่าวว่า
‘การกระทำมีผลจริง’ ผู้นี้ชื่อว่าไม่ทำตนเป็นข้าศึกกับพระอรหันต์ผู้เป็นกิริยวาทะ
การกระทำมีผลจริง เขาทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่า ‘การกระทำมีผลจริง’ การที่เขาทำให้
ผู้อื่นเข้าใจเช่นนั้น เป็นการทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริง และเขาย่อมไม่ยกตน
ข่มผู้อื่น ด้วยการทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริงนั้น โดยนัยนี้ เริ่มต้นเขาก็ละทิ้ง
ความเป็นผู้ทุศีลแล้วตั้งตนเป็นคนมีศีลดีงาม เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย กุศลธรรม
เป็นอเนกเหล่านี้ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา ความไม่เป็นข้าศึก
กับพระอริยะ การทำให้เข้าใจถูกตามความเป็นจริง การไม่ยกตน การไม่ข่มผู้อื่น
ย่อมเกิดขึ้น ด้วยประการอย่างนี้
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ในลัทธิของสมณพราหมณ์เหล่านั้น วิญญูชน
ย่อมเห็นประจักษ์ชัดดังนี้ว่า ‘ถ้าการกระทำมีผลจริง เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษบุคคลนี้
หลังจากตายแล้วจักไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ถ้าการกระทำไม่มีผลจริง คำของ
สมณพราหมณ์เหล่านั้นจะจริงหรือไม่ก็ช่างเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น บุรุษบุคคลนี้ก็ย่อม
ได้รับคำสรรเสริญจากวิญญูชนในปัจจุบันว่า ‘เป็นบุรุษบุคคลผู้มีศีล เป็นสัมมาทิฏฐิ
เป็นกิริยวาทะ’ ถ้าการกระทำมีผลจริง บุรุษบุคคลนี้ก็จะได้รับคุณในโลกทั้ง 2 คือ
(1) ในปัจจุบันวิญญูชนย่อมสรรเสริญ (2) หลังจากตายแล้ว จักไปเกิดในสุคติ
โลกสวรรค์ อย่างนี้
อปัณณกธรรม ที่บุคคลนั้นสมาทานให้บริบูรณ์ดีแล้ว แพร่ดิ่งไปทั้งสองฝ่าย
ย่อมละเหตุที่เป็นอกุศลได้ ด้วยประการอย่างนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :105 }