เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 9. สัมมาทิฏฐิสูตร

ทุกข์ เป็นอย่างไร ทุกขสมุทัย เป็นอย่างไร ทุกขนิโรธ เป็นอย่างไร ทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทา เป็นอย่างไร
ทุกข์ เป็นอย่างไร
คือ ชาติเป็นทุกข์ ชราเป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
อุปายาสเป็นทุกข์ การประสบกับอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพราก
จากอารมณ์อันเป็นที่รักเป็นทุกข์ การไม่ได้สิ่งที่ต้องการเป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ อุปาทาน-
ขันธ์1 5 เป็นทุกข์ นี้เรียกว่า ทุกข์
ทุกขสมุทัย เป็นอย่างไร
คือ ตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความเพลิดเพลินและความกำหนัด
มีปกติให้เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ ได้แก่ กามตัณหา(ความทะยานอยากในกาม)
ภวตัณหา (ความทะยานอยากเป็นนั่นเป็นนี่) วิภวตัณหา(ความทะยานอยากไม่เป็น
นั่นเป็นนี่) นี้เรียกว่า ทุกขสมุทัย
ทุกขนิโรธ เป็นอย่างไร
คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความสละคืน ความพ้น
ความไม่อาลัยในตัณหา นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธ
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ได้แก่
1. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ 8. สัมมาสมาธิ
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

เชิงอรรถ :
1 อุปาทานขันธ์ หมายถึงอุปาทาน + ขันธ์ คำว่า อุปาทาน แปลว่า ความถือมั่น (อุป = มั่น + อาทาน = ถือ)
หมายถึงชื่อของราคะที่ประกอบด้วยกามคุณ 5 บ้าง (ดู สํ.ข.อ. 2/1/16, อภิ.สงฺ.อ. 1219/442) หมาย
ถึงความถือมั่นด้วยอำนาจตัณหา มานะ และทิฏฐิบ้าง (ดู สํ.ข.อ. 2/63/308) หมายถึงตัณหาบ้าง (ดู ม.มู.อ.
1/141/330) คำว่า ขันธ์ แปลว่า กอง (ตามนัย อภิ.สงฺ.อ. 5/192) ดังนั้น อุปาทานขันธ์ จึงหมายถึง
"กองอันเป็นอารมณ์แห่งความถือมั่น" ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดู ที.ปา. 11/311/204,
ขุ.ป. 31/33/40-41, อภิ.วิ. (แปล) 35/202/166, อภิ.วิ.อ. 202/117, สํ.ข.ฏีกา 22/254, วิสุทฺธิ.
2/505/122 ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :86 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 9. สัมมาทิฏฐิสูตร

เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และทุกขนิโรธ-
คามินีปฏิปทาอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอน
ทิฏฐานุสัยและมานานุสัยที่ว่า 'เป็นเรา' โดยประการทั้งปวง ละอวิชชาได้แล้ว ทำ
วิชชาให้เกิดขึ้น แล้วเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้เอง แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้"

เรื่องชราและมรณะ

[92] ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า "ดีจริง ขอรับ"
แล้วได้ถามปัญหากับท่านพระสารีบุตรต่อไปว่า "อธิบายแม้อย่างอื่นเป็นเหตุชี้บอก
ว่า พระอริยสาวกชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่
ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้ จะพึงมีอยู่หรือ"
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า "พึงมีอยู่ เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดชราและมรณะ
เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ ความดับแห่งชราและมรณะ และข้อปฏิบัติให้ถึงความ
ดับแห่งชราและมรณะ เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวกก็ชื่อว่ามี
สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ชราและมรณะ เป็นอย่างไร เหตุเกิดแห่งชราและมรณะ เป็นอย่างไร ความ
ดับแห่งชราและมรณะ เป็นอย่างไร ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ เป็น
อย่างไร
ชรา เป็นอย่างไร
คือ ความแก่ ความคร่ำคร่า ความมีฟันหลุด ความมีผมหงอก ความมี
หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ในหมู่สัตว์นั้น ๆ ของ
เหล่าสัตว์นั้น ๆ นี้เรียกว่า ชรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :87 }