เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 9. สัมมาทิฏฐิสูตร

ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า "ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ท่าน
ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี กระผมจักกล่าว"
ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวเรื่องนี้ว่า

เรื่องอกุศลและกุศล

"ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอกุศลและรากเหง้าแห่ง
อกุศล รู้ชัดกุศลและรากเหง้าแห่งกุศล เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวก
ก็ชื่อว่า มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่
พระสัทธรรมนี้
อกุศล เป็นอย่างไร รากเหง้าแห่งอกุศล เป็นอย่างไร กุศล เป็นอย่างไร
รากเหง้าแห่งกุศล เป็นอย่างไร
อกุศล เป็นอย่างไร

คือ การฆ่าสัตว์ เป็นอกุศล
การลักทรัพย์ เป็นอกุศล
การประพฤติผิดในกาม เป็นอกุศล
การพูดเท็จ เป็นอกุศล
การพูดส่อเสียด เป็นอกุศล
การพูดคำหยาบ เป็นอกุศล
การพูดเพ้อเจ้อ เป็นอกุศล
การเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นอกุศล
การคิดปองร้ายผู้อื่น เป็นอกุศล
มิจฉาทิฏฐิ เป็นอกุศล
นี้เรียกว่า อกุศล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :82 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 9. สัมมาทิฏฐิสูตร

รากเหง้าแห่งอกุศล เป็นอย่างไร
คือ โลภะ(ความโลภ) เป็นรากเหง้าแห่งอกุศล
โทสะ(ความคิดประทุษร้าย) เป็นรากเหง้าแห่งอกุศล
โมหะ(ความหลง) เป็นรากเหง้าแห่งอกุศล
นี้เรียกว่า รากเหง้าแห่งอกุศล
กุศล เป็นอย่างไร

คือ เจตนางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์ เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการพูดส่อเสียด เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการพูดคำหยาบ เป็นกุศล
เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นกุศล
การไม่เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นกุศล
การไม่ปองร้ายผู้อื่น เป็นกุศล
สัมมาทิฏฐิ เป็นกุศล
นี้เรียกว่า กุศล

รากเหง้าแห่งกุศล เป็นอย่างไร
คือ อโลภะ(ความไม่โลภ) เป็นรากเหง้าแห่งกุศล
อโทสะ(ความไม่คิดประทุษร้าย) เป็นรากเหง้าแห่งกุศล
อโมหะ(ความไม่หลง) เป็นรากเหง้าแห่งกุศล
นี้เรียกว่า รากเหง้าแห่งกุศล
เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอกุศลและรากเหง้าแห่งอกุศลอย่างนี้ รู้ชัดกุศลและ
รากเหง้าแห่งกุศลอย่างนี้ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือราคะ)
บรรเทาปฏิฆานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือปฏิฆะ) ถอนทิฏฐานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :83 }