เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 9. สัมมาทิฏฐิสูตร

จุนทะ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจเถิด อย่าประมาท
อย่าได้เดือดร้อนในภายหลังเลย นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราสำหรับเธอทั้งหลาย"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระมหาจุนทะมีใจยินดีชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

พระผู้มีพระภาคตรัสบท 44 บท ทรงแสดงสนธิ 5
พระสูตรนี้ชื่อสัลเลขสูตรลุ่มลึกเปรียบด้วยสาคร
สัลเลขสูตรที่ 8 จบ

9. สัมมาทิฏฐิสูตร
ว่าด้วยความเห็นชอบ

[89] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลาย
มากล่าวว่า "ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึง
ได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
"ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย มีคนกล่าวกันว่า 'สัมมาทิฏฐิ1 สัมมาทิฏฐิ' ด้วยเหตุ
อะไรบ้าง พระอริยสาวกจึงชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอัน
แน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้"
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า "ท่านผู้มีอายุ พวกกระผมมาจากที่ไกล ก็เพื่อจะรู้ทั่วถึง
เนื้อความแห่งภาษิตนั้น ในสำนักของท่านพระสารีบุตร พวกกระผมขอโอกาส
ขอท่านพระสารีบุตรจงอธิบายเนื้อความแห่งภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งเถิด ภิกษุทั้งหลาย
ได้ฟังคำอธิบายของท่านแล้วจักทรงจำไว้ได้"

เชิงอรรถ :
1 สัมมาทิฏฐิ มี 2 อย่าง คือ (1) โลกิยสัมมาทิฏฐิ หมายถึงกัมมัสสกตาญาณ (ญาณหยั่งรู้ว่าสัตว์มีกรรม
เป็นของตน) และสัจจานุโลมิกญาณ (ญาณหยั่งรู้โดยสมควรแก่การกำหนดรู้อริยสัจ) (2) โลกุตตร-
สัมมาทิฏฐิ หมายถึงปัญญาที่ประกอบด้วยอริยมรรค และอริยผล ในที่นี้หมายถึงโลกุตตรสัมมาทิฏฐิ
(ม.มู.อ. 1/89/209)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :81 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 9. สัมมาทิฏฐิสูตร

ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวว่า "ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น ท่าน
ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี กระผมจักกล่าว"
ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวเรื่องนี้ว่า

เรื่องอกุศลและกุศล

"ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใด พระอริยสาวกรู้ชัดอกุศลและรากเหง้าแห่ง
อกุศล รู้ชัดกุศลและรากเหง้าแห่งกุศล เมื่อนั้น แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ พระอริยสาวก
ก็ชื่อว่า มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง มีความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่
พระสัทธรรมนี้
อกุศล เป็นอย่างไร รากเหง้าแห่งอกุศล เป็นอย่างไร กุศล เป็นอย่างไร
รากเหง้าแห่งกุศล เป็นอย่างไร
อกุศล เป็นอย่างไร

คือ การฆ่าสัตว์ เป็นอกุศล
การลักทรัพย์ เป็นอกุศล
การประพฤติผิดในกาม เป็นอกุศล
การพูดเท็จ เป็นอกุศล
การพูดส่อเสียด เป็นอกุศล
การพูดคำหยาบ เป็นอกุศล
การพูดเพ้อเจ้อ เป็นอกุศล
การเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น เป็นอกุศล
การคิดปองร้ายผู้อื่น เป็นอกุศล
มิจฉาทิฏฐิ เป็นอกุศล
นี้เรียกว่า อกุศล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :82 }