เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 7. วัตถูปมสูตร

พราหมณ์ ท่านจงอาบน้ำในศาสนาของเรานี้เถิด
ท่านจงทำความปลอดภัยในสัตว์ทั้งปวงเถิด
ถ้าท่านไม่พูดเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์
ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ มีความเชื่อ
ไม่ตระหนี่ ท่านจะไปยังท่าน้ำคยาทำไม
แม้การดื่มน้ำจากท่าน้ำคยาจักมีประโยชน์อะไรแก่ท่าน"

สุนทริกพราหมณ์เป็นพระอรหันต์

[80] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดม
ชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะ
ยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคล
หงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วย
ตั้งใจว่า 'คนมีตาดีจักเห็นรูปได้' ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้ง
พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของ
ท่านพระโคดมเถิด"
สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มี-
พระภาคแล้ว ไม่นานก็จากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและ
ใจอยู่ ไม่นานนักก็ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์
ที่เหล่ากุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน รู้ชัดว่า "ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป"
ท่านพระภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย
ดังนี้แล

วัตถูปมสูตรที่ 7 จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 8. สัลเลขสูตร

8. สัลเลขสูตร
ว่าด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส

[81] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเย็น ท่านพระมหาจุนทะออกจากที่
หลีกเร้น1 แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่
สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มีทิฏฐิหลายประการในโลกเกี่ยวกับอัตตวาทะ2บ้าง
เกี่ยวกับโลกวาทะ3บ้าง เมื่อภิกษุมนสิการเพียงเบื้องต้น ก็ละสลัดทิ้งทิฏฐิเหล่านั้น
ได้อย่างนั้นหรือ"
[82] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "จุนทะ มีทิฏฐิหลายประการในโลกเกี่ยวกับ
อัตตวาทะบ้าง เกี่ยวกับโลกวาทะบ้าง เมื่อภิกษุเห็นอารมณ์เป็นที่เกิดขึ้น เป็นที่
หมักหมม และเป็นที่ท่องเที่ยวแห่งทิฏฐิเหล่านั้นตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
อันชอบอย่างนี้ว่า 'นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา' ก็ละ
สลัดทิ้งทิฏฐิเหล่านั้นได้

รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4

จุนทะ เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรม
ทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่

เชิงอรรถ :
1 ที่หลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงผลสมาบัติชั้นสูงสุด (ม.มู.อ. 1/81/194)
2 อัตตวาทะ หมายถึงมิจฉาทิฏฐิที่ปรารภอัตตา เช่น เห็นว่ารูปเป็นอัตตาเป็นต้น (ม.มู.อ. 1/81/194)
3 โลกวาทะ หมายถึงมิจฉาทิฏฐิที่ปรารภโลก เช่น เห็นว่า อัตตาและโลกเที่ยงเป็นต้น (ม.มู.อ. 1/81/194)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :70 }