เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 6. อากังเขยยสูตร

[65] ภิกษุทั้งหลาย
1. หากภิกษุพึงหวังว่า 'เราพึงเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจ เป็นที่เคารพ
และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย' ภิกษุนั้นพึงทำศีล
ให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหิน
ห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา1 เพิ่มพูนเรือนว่าง2
2. หากภิกษุพึงหวังว่า 'เราพึงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร' ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ หมั่นประกอบ
ธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วย
วิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
3. หากภิกษุพึงหวังว่า 'เราพึงบริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารของชนเหล่าใด ขอสักการะของชน
เหล่านั้น พึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก' ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์
หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน
ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง
4. หากภิกษุพึงหวังว่า 'ญาติสาโลหิต3เหล่าใดผู้ล่วงลับไปแล้ว มีจิต
เลื่อมใส ระลึกถึงเราอยู่ ขอการระลึกถึงเราของญาติสาโลหิต
เหล่านั้นพึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก' ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์
หมั่นประกอบธรรมเครื่องสงบใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน
ประกอบด้วยวิปัสสนา เพิ่มพูนเรือนว่าง

เชิงอรรถ :
1 วิปัสสนา หมายถึงอนุปัสสนา 7 ประการ คือ (1) อนิจจานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง)
(2) ทุกขานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความเป็นทุกข์) (3) อนัตตานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความไม่มีตัวตน)
(4) นิพพิทานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความน่าเบื่อหน่าย) (5) วิราคานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความคลาย
กำหนัด) (6) นิโรธานุปัสสนา (พิจารณาเห็นความดับกิเลส) (7) ปฏินิสสัคคานุปัสสนา (พิจารณาเห็น
ความสลัดทิ้งกิเลส) (ม.มู.อ. 1/65/169)
2 เพิ่มพูนเรือนว่าง ในที่นี้หมายถึงการเรียนกัมมัฏฐาน คือ สมถะและวิปัสสนา เข้าไปสู่เรือนว่างนั่ง
พิจารณาอยู่ตลอดคืนและวัน แล้วบำเพ็ญอธิจิตตสิกขาด้วยสมถกัมมัฏฐาน บำเพ็ญอธิปัญญาสิกขาด้วย
วิปัสสนากัมมัฏฐาน (ม.มู.อ. 1/64/169-170, องฺ.ทสก.อ. 3/71/357)
3 ญาติ หมายถึงบิดามารดาของสามี หรือบิดามารดาของภรรยาและเครือญาติของทั้ง 2 ฝ่าย
สาโลหิต หมายถึงผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน ได้แก่ ปู่หรือตา เป็นต้น (ม.มู.อ. 1/65/172, ม.มู.ฏีกา
1/65/329)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :57 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 6. อากังเขยยสูตร

[66] ภิกษุทั้งหลาย
5. หากภิกษุพึงหวังว่า 'เราพึงข่มความไม่ยินดี(ในกุศลธรรม) และ
ความยินดี(ในกามคุณ 5) อนึ่ง ความไม่ยินดี ไม่พึงครอบงำเรา
เราพึงครอบงำย่ำยีความไม่ยินดีที่เกิดขึ้นอยู่' ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้
บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
6. หากภิกษุพึงหวังว่า 'เราพึงเอาชนะความขลาดกลัว อนึ่ง ความ
ขลาดกลัวไม่พึงครอบงำเรา เราพึงเอาชนะ ครอบงำ ย่ำยีความ
ขลาดกลัวที่เกิดขึ้นอยู่' ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ
เพิ่มพูนเรือนว่าง
7. หากภิกษุพึงหวังว่า 'เราพึงได้ฌาน 4 ซึ่งเป็นอภิเจตสิก1 เป็น
เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบาก' ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูน
เรือนว่าง
8. หากภิกษุพึงหวังว่า 'เราพึงบรรลุวิโมกข์ที่สงบ เป็นอรูปฌาน
เพราะก้าวล่วงรูปาวจรฌานด้วยนามกาย' ภิกษุนั้นพึงทำศีลให้
บริบูรณ์ ฯลฯ เพิ่มพูนเรือนว่าง
[67] ภิกษุทั้งหลาย
9. หากภิกษุพึงหวังว่า 'เราพึงเป็นพระโสดาบัน2 เพราะสังโยชน์3 3

เชิงอรรถ :
1 อภิเจตสิก หมายถึงอุปจารสมาธิ (ม.มู.อ. 1/66/173)
2 โสดาบัน หมายถึงผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 เพราะคำว่า โสตะ เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ 8
(อภิ.ปญฺจ.อ. 31/53 ดูประกอบใน สํ.ม. (แปล) 19/1001/495)
3 สังโยชน์ หมายถึงกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์ มี 10 ประการ คือ (1) สักกายทิฏฐิ
(2) วิจิกิจฉา (3) สีลัพพตปรามาส (4) กามฉันทะหรือกามราคะ (5) พยาบาทหรือปฏิฆะ (6) รูปราคะ
(7) อรูปราคะ (8) มานะ (9) อุทธัจจะ (10) อวิชชา
5 ข้อต้นชื่อโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 ข้อหลังชื่ออุทธัมภาคิยสังโยชน์ พระโสดาบันละสังโยชน์ 3
ข้อต้นได้ พระสกทาคามีทำสังโยชน์ที่ 4 และที่ 5 ให้เบาบาง พระอนาคามีละสังโยชน์ 5 ข้อต้นได้หมด
พระอรหันต์ละสังโยชน์ได้หมดทั้ง 10 ข้อ (องฺ.ทสก.(แปล) 24/13/21)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :58 }