เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 9. พรหมนิมันตนิกสูตร

9. พรหมนิมันตนิกสูตร
ว่าด้วยการเชื้อเชิญของพรหม

[501] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระ
ภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โคนต้นสาละใหญ่ในสุภควัน ใกล้เมือง
อุกกัฏฐา ในสมัยนั้น พกพรหมมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า 'พรหมสถาน1นี้เที่ยง
ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนไปเป็นธรรมดา พรหมสถานนี้ ไม่เกิด
ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แลเหตุเครื่องสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่ง นอก
จากพรหมสถานนี้ไม่มี' ครั้งนั้น เรารู้ความคิดคำนึงของพกพรหมด้วยใจแล้ว จึง
อันตรธานจากโคนต้นสาละใหญ่ในสุภควันใกล้เมืองอุกกัฏฐา ไปปรากฏในพรหมโลกนั้น
เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขนออก หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น พกพรหมได้เห็น
เราผู้มาแต่ไกล แล้วได้กล่าวกับเราว่า 'ท่านผู้นิรทุกข์ เชิญเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จ
ท่านได้พูดว่า 'จะมาที่นี้นานมาแล้ว ท่านผู้นิรทุกข์ พรหมสถานนี้ เที่ยง ยั่งยืน
มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนไปเป็นธรรมดา พรหมสถานนี้ ไม่เกิด ไม่แก่
ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แลการสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่ง นอกจากพรหม-
สถานนี้ไม่มี'

เชิงอรรถ :
1 พรหมสถาน หมายถึงพกพรหมมีความเห็นว่า พรหมสถานพร้อมทั้งร่างกายเป็นภาวะที่เที่ยง (ม.มู.อ.
2/501/312)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :537 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 9. พรหมนิมันตนิกสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพกพรหมกล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกับพกพรหมว่า
'พกพรหมผู้เจริญตกอยู่ในอำนาจอวิชชาแล้วหนอ พกพรหมผู้เจริญตกอยู่ใน
อำนาจอวิชชาแล้วหนอ เพราะว่าพกพรหมกล่าวสิ่งที่ไม่เที่ยงว่า 'เที่ยง' กล่าวสิ่ง
ที่ไม่ยั่งยืนว่า 'ยั่งยืน' กล่าวสิ่งที่ไม่มั่นคงว่า 'มั่นคง' กล่าวสิ่งที่ไม่แข็งแรงว่า
'แข็งแรง' กล่าวสิ่งที่มีความเคลื่อนไปเป็นธรรมดาว่า 'มีความไม่เคลื่อนไปเป็นธรรมดา'
ก็แลสัตว์เกิด แก่ ตาย จุติ และอุบัติอยู่ในพรหมสถานใด พกพรหมกล่าว
พรหมสถานนั้นว่า 'พรหมสถานนี้ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ และ
กล่าวการสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่งอื่นซึ่งมีอยู่ว่า 'การสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่ง
อื่นไม่มี'

มารเข้าสิงกายพรหม

[502] ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น มารใจบาปเข้าสิงกายพรหมปาริสัชชะผู้หนึ่ง
แล้วกล่าวกับเราว่า 'ภิกษุ ภิกษุ อย่ารุกรานพกพรหมนี้เลย อย่ารุกรานพกพรหม
นี้เลย เพราะว่าพรหมผู้นี้เป็นมหาพรหม เป็นใหญ่ คณะพรหมฝ่าฝืนไม่ได้ โดยที่แท้
เป็นผู้รู้ทั่วไป ยังสรรพสัตว์ให้เป็นไปในอำนาจ เป็นอิสระ เป็นผู้สร้างโลก นิรมิตโลก
เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้แต่งสัตว์ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นบิดาของเหล่าสัตว์ที่เกิดแล้ว
และที่กำลังจะเกิด สมณพราหมณ์พวกก่อนท่าน เป็นผู้ติเตียนดิน เกลียดดิน เป็นผู้
ติเตียนน้ำ เกลียดน้ำ เป็นผู้ติเตียนไฟ เกลียดไฟ เป็นผู้ติเตียนลม เกลียดลม
เป็นผู้ติเตียนสัตว์ เกลียดสัตว์ เป็นผู้ติเตียนเทวดา เกลียดเทวดา เป็นผู้ติเตียน
ปชาบดี เกลียดปชาบดี เป็นผู้ติเตียนพรหม เกลียดพรหมในโลก หลังจากตายแล้ว
สมณพราหมณ์เหล่านั้นจะไปเกิดในพวกที่เลว
ส่วนสมณพราหมณ์พวกก่อนท่าน เป็นผู้สรรเสริญดิน ชมเชยดิน เป็นผู้
สรรเสริญน้ำ ชมเชยน้ำ เป็นผู้สรรเสริญไฟ ชมเชยไฟ เป็นผู้สรรเสริญลม ชมเชยลม
เป็นผู้สรรเสริญสัตว์ ชมเชยสัตว์ เป็นผู้สรรเสริญเทวดา ชมเชยเทวดา เป็นผู้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :538 }