เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 8. โกสัมพิยสูตร

ทั้งปวงแล้วเงี่ยโสตฟังธรรม อริยสาวกนั้นก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า 'บุคคลผู้มี
ทิฏฐิ เป็นผู้มีพละเช่นใด ถึงเราก็มีพละเช่นนั้น''
นี้คือญาณที่ 6 ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่ง
อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
[499] อริยสาวกพิจารณาเห็นดังนี้ว่า 'บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละเช่นใด
ถึงเราก็มีพละเช่นนั้น'
บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละอย่างไร
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีทิฏฐิ เป็นผู้มีพละอย่างนี้ คือ เมื่อบัณฑิตแสดง
ธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว อริยสาวกนั้น ได้ความรู้แจ้งอรรถ ได้ความรู้แจ้ง
ธรรม และได้ความปราโมทย์ในธรรม อริยสาวกนั้นก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า 'บุคคลผู้มี
ทิฏฐิ เป็นผู้มีพละเช่นใด ถึงเราก็มีพละเช่นนั้น'
นี้คือญาณที่ 7 ที่เป็นอริยะ เป็นโลกุตตระ ไม่ทั่วไปแก่ปุถุชนทั้งหลาย ซึ่ง
อริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว
[500] ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกประกอบด้วยธรรม 7 ประการนี้
ตรวจสอบสภาวธรรมดีแล้ว ด้วยการทำให้แจ้งโสดาปัตติผลอย่างนี้ อริยสาวกผู้
ประกอบด้วยธรรม 7 ประการนี้ ย่อมเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยโสดาปัตติผลแล"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

โกสัมพิยสูตรที่ 8 จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 9. พรหมนิมันตนิกสูตร

9. พรหมนิมันตนิกสูตร
ว่าด้วยการเชื้อเชิญของพรหม

[501] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระ
ภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่โคนต้นสาละใหญ่ในสุภควัน ใกล้เมือง
อุกกัฏฐา ในสมัยนั้น พกพรหมมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า 'พรหมสถาน1นี้เที่ยง
ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนไปเป็นธรรมดา พรหมสถานนี้ ไม่เกิด
ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แลเหตุเครื่องสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่ง นอก
จากพรหมสถานนี้ไม่มี' ครั้งนั้น เรารู้ความคิดคำนึงของพกพรหมด้วยใจแล้ว จึง
อันตรธานจากโคนต้นสาละใหญ่ในสุภควันใกล้เมืองอุกกัฏฐา ไปปรากฏในพรหมโลกนั้น
เปรียบเหมือนคนแข็งแรงเหยียดแขนออก หรือคู้แขนเข้าฉะนั้น พกพรหมได้เห็น
เราผู้มาแต่ไกล แล้วได้กล่าวกับเราว่า 'ท่านผู้นิรทุกข์ เชิญเสด็จมาเถิด ขอรับเสด็จ
ท่านได้พูดว่า 'จะมาที่นี้นานมาแล้ว ท่านผู้นิรทุกข์ พรหมสถานนี้ เที่ยง ยั่งยืน
มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนไปเป็นธรรมดา พรหมสถานนี้ ไม่เกิด ไม่แก่
ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็แลการสลัดออกจากทุกข์อย่างยิ่ง นอกจากพรหม-
สถานนี้ไม่มี'

เชิงอรรถ :
1 พรหมสถาน หมายถึงพกพรหมมีความเห็นว่า พรหมสถานพร้อมทั้งร่างกายเป็นภาวะที่เที่ยง (ม.มู.อ.
2/501/312)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :537 }