เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 7. วีมังสกสูตร

ทรงเปิดโอกาสให้สอบถามยิ่งขึ้น

[489] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้พิจารณาเหล่านั้น ภิกษุผู้พิจารณา
รูปหนึ่ง ควรสอบถามตถาคตต่อไปว่า 'ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหู
อันเศร้าหมองหรือไม่' ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า 'ตถาคตมิได้มีธรรม
ที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมอง'
ควรสอบถามตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า 'ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและ
ทางหูอันเจือกันหรือไม่' ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า 'ตถาคตมิได้มีธรรม
ที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกัน'
ควรสอบถามตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า 'ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและ
ทางหูอันผ่องแผ้วหรือไม่' ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า 'ตถาคตมีธรรมที่
จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันผ่องแผ้ว' เราเป็นผู้มีธรรมที่ผ่องแผ้วนั้นเป็นทาง
เป็นที่โคจร เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา'
สาวกควรจะเข้าไปหาศาสดาผู้มีวาทะอย่างนี้เพื่อฟังธรรม ศาสดาก็จะแสดง
ธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนดำและส่วนขาวแก่สาวกนั้น
ศาสดาก็แสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนดำและส่วนขาว
แก่ภิกษุโดยประการใด ภิกษุนั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมบางอย่างในธรรมนั้นโดยประการนั้น
ถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย ก็จะเลื่อมใสในศาสดาว่า 'พระผู้มีพระภาคเป็น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้
ปฏิบัติดีแล้ว'
หากชนเหล่าอื่นพึงสอบถามภิกษุนั้นอีกอย่างนี้ว่า 'ท่านมีอะไรเป็นเครื่องบ่งชี้
ที่เป็นเหตุให้ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า 'พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว'
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็ควรตอบอย่างนี้ว่า 'ท่าน
ผู้มีอายุทั้งหลาย เราเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับเพื่อฟังธรรม พระผู้มี
พระภาคก็ทรงแสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้นทั้งที่เป็นส่วนดำ และส่วนขาว
แก่เรานั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้นทั้งที่เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :528 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 8. โกสัมพิยสูตร

ส่วนดำและส่วนขาวแก่เราโดยประการใด เราก็รู้ยิ่งซึ่งธรรมบางอย่างในธรรมนั้น
โดยประการนั้น ถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย ก็จะเลื่อมใสในพระศาสดาว่า
'พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีไว้แล้ว
พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว'
[490] ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาของบุคคลใดบุคคลหนึ่งตั้งมั่นแล้วในตถาคต
มีมูล มีที่อาศัย ด้วยอาการเหล่านี้ ด้วยพยัญชนะเหล่านี้ ศรัทธานี้เรากล่าวว่ามีเหตุ
มีทัสสนะเป็นมูล1 มั่นคง ซึ่งสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ
ในโลกไม่พึงให้หวั่นไหวได้
ภิกษุทั้งหลาย การตรวจสอบธรรมในตถาคต ย่อมมีอย่างนี้ ตถาคตเป็นผู้ที่
ภิกษุพิจารณาตรวจสอบดีแล้วโดยธรรม อย่างนี้แล"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

วีมังสกสูตรที่ 7 จบ

8. โกสัมพิยสูตร
ว่าด้วยภิกษุชาวเมืองโกสัมพี
ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีวิวาทกัน

[491] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้น
พวกภิกษุในกรุงโกสัมพีต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน ใช้หอกคือปาก
ทิ่มแทงกันอยู่ ไม่ทำความเข้าใจกัน ไม่ปรารถนาปรับความเข้าใจกัน ไม่ทำความ
ปรองดองกัน ไม่ปรารถนาความปรองดองกัน

เชิงอรรถ :
1 มีทัสสนะเป็นมูล ในที่นี้หมายถึงมีโสดาปัตติมรรคเป็นมูลเหตุ (ม.มู.อ. 2/490/296)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :529 }