เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 7. วีมังสกสูตร

เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า 'ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้ง
ทางตาและทางหูอันผ่องแผ้ว' จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า
'ท่านผู้นี้มีกุศลธรรมนี้สิ้นกาลช้านาน หรือมีชั่วกาลนิดหน่อย' เมื่อตรวจสอบตถาคต
นั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า 'ท่านผู้นี้มีกุศลธรรมนี้สิ้นกาลช้านาน มิใช่ว่ามีชั่วกาลนิดหน่อย'
เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า 'ท่านผู้นี้มีกุศลธรรมนี้สิ้นกาล
ช้านาน มิใช่ว่ามีชั่วกาลนิดหน่อย' จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า
'ท่านภิกษุนี้มีชื่อเสียง มียศ ท่านมีโทษบางอย่างในโลกนี้บ้างหรือไม่' เพราะภิกษุ
ยังไม่มีโทษบางอย่างในโลกนี้ชั่วเวลาที่ตนยังไม่มีชื่อเสียง ยังไม่มียศ แต่เมื่อมี
ชื่อเสียง มียศแล้ว ก็จะมีโทษบางอย่างในโลกนี้ ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อพิจารณา
ตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า 'ท่านภิกษุนี้มีชื่อเสียง มียศแล้ว (แต่)มิได้
มีโทษบางอย่างในโลกนี้'
เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า 'ท่านภิกษุนี้มีชื่อเสียง มียศแล้ว
(แต่)มิได้มีโทษบางอย่างในโลกนี้' จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นว่า
'ท่านผู้นี้ไม่มีภัย มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว เนื่องจาก
สิ้นราคะ' เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า 'ท่านผู้นี้ไม่มีภัย
มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว เนื่องจากสิ้นราคะ'
หากชนเหล่าอื่นจะพึงถามภิกษุนั้นว่า 'ท่านมีอะไรเป็นเครื่องบ่งชี้ที่เป็นเหตุให้
ท่านกล่าวว่า 'ท่านผู้นี้ไม่มีภัย มิใช่ผู้มีภัย ไม่เสพกามเพราะปราศจากราคะแล้ว
เนื่องจากสิ้นราคะ'
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องควรตอบอย่างนี้ว่า 'จริงอย่างนั้น
ท่านผู้นี้อยู่ในหมู่หรืออยู่ผู้เดียว จะไม่ดูหมิ่นหมู่ชนในที่นั้น ผู้ดำเนินไปดี ดำเนิน
ไปชั่ว สั่งสอนคณะ บางพวกติดอยู่ในอามิสในโลกนี้ และบางพวกไม่ติดอยู่ในอามิส
ในโลกนี้ เราได้สดับรับความข้อนี้มาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า 'เราเป็น
ผู้ไม่มีภัย มิใช่เป็นผู้มีภัย เพราะปราศจากราคะแล้ว ไม่เสพกามเพราะปราศจาก
ราคะแล้ว เนื่องจากสิ้นราคะ'

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :527 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 7. วีมังสกสูตร

ทรงเปิดโอกาสให้สอบถามยิ่งขึ้น

[489] ภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุผู้พิจารณาเหล่านั้น ภิกษุผู้พิจารณา
รูปหนึ่ง ควรสอบถามตถาคตต่อไปว่า 'ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหู
อันเศร้าหมองหรือไม่' ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า 'ตถาคตมิได้มีธรรม
ที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมอง'
ควรสอบถามตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า 'ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและ
ทางหูอันเจือกันหรือไม่' ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า 'ตถาคตมิได้มีธรรม
ที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกัน'
ควรสอบถามตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า 'ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและ
ทางหูอันผ่องแผ้วหรือไม่' ตถาคตเมื่อตอบก็จะพึงตอบอย่างนี้ว่า 'ตถาคตมีธรรมที่
จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันผ่องแผ้ว' เราเป็นผู้มีธรรมที่ผ่องแผ้วนั้นเป็นทาง
เป็นที่โคจร เพราะเหตุนั้นเราจึงเป็นผู้ไม่มีตัณหา'
สาวกควรจะเข้าไปหาศาสดาผู้มีวาทะอย่างนี้เพื่อฟังธรรม ศาสดาก็จะแสดง
ธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนดำและส่วนขาวแก่สาวกนั้น
ศาสดาก็แสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้น ทั้งที่เป็นส่วนดำและส่วนขาว
แก่ภิกษุโดยประการใด ภิกษุนั้นรู้ยิ่งซึ่งธรรมบางอย่างในธรรมนั้นโดยประการนั้น
ถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย ก็จะเลื่อมใสในศาสดาว่า 'พระผู้มีพระภาคเป็น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้
ปฏิบัติดีแล้ว'
หากชนเหล่าอื่นพึงสอบถามภิกษุนั้นอีกอย่างนี้ว่า 'ท่านมีอะไรเป็นเครื่องบ่งชี้
ที่เป็นเหตุให้ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า 'พระผู้มีพระภาคเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว'
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นเมื่อจะตอบอย่างถูกต้องก็ควรตอบอย่างนี้ว่า 'ท่าน
ผู้มีอายุทั้งหลาย เราเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับเพื่อฟังธรรม พระผู้มี
พระภาคก็ทรงแสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้นทั้งที่เป็นส่วนดำ และส่วนขาว
แก่เรานั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมที่สูงยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้นทั้งที่เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :528 }