เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 7. วีมังสกสูตร

และรส ครั้นท่านดื่มเข้าไปแล้วจักมีสุข' บุรุษนั้น พิจารณายานั้น
แล้วดื่มมิได้วาง ยานั้นก็ทำให้เขาผู้ดื่มพอใจทั้งสี กลิ่น และรส ครั้นดื่ม
แล้วก็มีความสุข แม้ฉันใด เรากล่าวว่าการสมาทานธรรมนี้ที่มีสุขใน
ปัจจุบันและมีสุขเป็นวิบากในอนาคต มีอุปมาฉันนั้น
[486] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนในสารทกาลซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน
อากาศโปร่งปราศจากเมฆฝน ดวงอาทิตย์ลอยอยู่ในท้องฟ้า กำจัดความมืดในอากาศ
ทั้งสิ้น ย่อมส่องแสงสว่างเจิดจ้า แม้ฉันใด การสมาทานธรรมนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็นวิบากในอนาคต กำจัดคำติเตียนของผู้อื่นคือสมณพราหมณ์
เป็นอันมากเหล่าอื่น ย่อมส่องแสงสว่างเจิดจ้า"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาธัมมสมาทานสูตรที่ 6 จบ

7. วีมังสกสูตร
ว่าด้วยผู้ตรวจสอบ1

[487] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
1 ผู้ตรวจสอบ มี 3 จำพวก คือ (1) อัตถวีมังสกะ หมายถึงผู้พิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น
(2) สังขารวีมังสกะ หมายถึงผู้พิจารณาสังขารธรรม โดยลักษณะของธรรมนั่น โดยสามัญญลักษณะ และ
โดยวิภาคธรรม (3) สัตถุวีมังสกะ หมายถึงผู้พิจารณาตรวจสอบพระศาสดา เช่น พิจารณาว่า ขึ้นชื่อว่า
ศาสดาต้องมีคุณเช่นนี้ ๆ ในสูตรนี้ หมายเอาสัตถุวีมังสกะ (ม.มู.อ. 2/487/286, ม.มู.ฏีกา 2/487/361)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :525 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 7. วีมังสกสูตร

"ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อไม่รู้วาระจิตของผู้อื่น พึงทำการพิจารณา
ตรวจสอบตถาคตเพื่อทราบว่า 'ตถาคตเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่"
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาค
เป็นที่พึ่ง ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอธิบายเนื้อความแห่ง
พระภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับแล้วจักทรงจำไว้"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว"
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

การตรวจสอบธรรมของพระตถาคต

[488] "ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อไม่รู้วาระจิตของผู้อื่น พึง
พิจารณาตรวจสอบตถาคตในธรรม 2 ประการ คือ (1) ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตา
(2) ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางหูว่า 'ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอัน
เศร้าหมองหรือไม่' เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า 'ตถาคต
มิได้มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมอง'
เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า 'ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึง
รู้แจ้งทางตาและทางหูอันเศร้าหมอง' จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า
'ตถาคต มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกัน1หรือไม่' เมื่อพิจารณา
ตรวจสอบตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า 'ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและ
ทางหูอันเจือกัน'
เมื่อพิจารณาตรวจสอบตถาคตอยู่ รู้อย่างนี้ว่า 'ตถาคตมิได้มีธรรมที่จะพึงรู้
แจ้งทางตาและทางหูอันเจือกัน' จากนั้น ก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปว่า
'ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้ทางตาและทางหูอันผ่องแผ้วหรือไม่' เมื่อพิจารณาตรวจสอบ
ตถาคตนั้นอยู่ก็จะรู้อย่างนี้ว่า 'ตถาคตมีธรรมที่จะพึงรู้แจ้งทางตาและทางหูอันผ่องแผ้ว'

เชิงอรรถ :
1 เจือกัน หมายถึงเป็นสิ่งผสมกัน กล่าวคือบางครั้งเป็นธรรมดำ บางคราวเป็นธรรมขาว (ม.มู.อ. 2/488/289)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :526 }