เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 5. จูฬธัมมสมาทานสูตร

การสมาทานธรรม 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
2. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
3. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต
4. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคต

การสมาทานธรรมที่มีสุขแต่มีทุกข์เป็นวิบาก

[469] การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า 'โทษ
ในกามทั้งหลายไม่มี' สมณพราหมณ์พวกนั้นย่อมถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกาม
ทั้งหลาย บำเรอกับพวกนางปริพาชิกาที่เกล้ามวยผมและกล่าวอย่างนี้ว่า 'ทำไม
ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้นเมื่อเห็นอนาคตภัยในกามทั้งหลาย จึงกล่าวถึงการละ
กามทั้งหลาย บัญญัติการกำหนดรู้กามทั้งหลาย (อันที่จริง) การได้สัมผัสแขนอัน
มีขนอ่อนนุ่มของนางปริพาชิกานี้เป็นความสุข' แล้วก็ถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกาม
ทั้งหลาย ครั้นถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกามทั้งหลาย หลังจากตายแล้ว ไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าเผ็ดร้อน ในที่ที่ตนเกิดนั้น และ
กล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้นเมื่อเห็นอนาคตภัยในกามทั้งหลายนี้แล
จึงกล่าวถึงการละกามทั้งหลาย บัญญัติการกำหนดรู้กามทั้งหลาย อันที่จริงพวก
เรานี้ย่อมเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าเผ็ดร้อน เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกาม
เป็นต้นเหตุ'
เปรียบเหมือนผลสุกของเถาย่านทราย จะพึงแตกในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน
พืชแห่งเถาย่านทรายนั้นจะพึงตกลงที่โคนต้นสาละต้นใดต้นหนึ่ง เทวดาที่สิงอยู่ที่
ต้นสาละนั้นกลัว หวาดเสียว และถึงความสะดุ้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :509 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 5. จูฬธัมมสมาทานสูตร

พวกอารามเทวดา1 วนเทวดา2 รุกขเทวดา3 และพวกเทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไม้
อันเป็นโอสถหญ้าและต้นไม้เจ้าป่า ผู้เป็นมิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต4 ของเทวดาที่
สิงอยู่ที่ต้นสาละนั้นต่างก็พากันมาปลอบโยนอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย
ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย เมล็ดพืชแห่งเถาย่านทรายนั้น บางทีนกยูงอาจกลืนกิน
บ้าง เนื้ออาจเคี้ยวกินบ้าง ไฟป่าอาจไหม้บ้าง พวกคนทำงานในป่าอาจถอนบ้าง
ปลวกอาจกัดกินบ้าง หรือไม่งอกขึ้น'
แต่เมล็ดพืชแห่งเถาย่านทรายนั้นนกยูงก็ไม่กลืนกิน เนื้อก็ไม่เคี้ยวกิน ไฟป่า
ก็ไม่ไหม้ พวกคนทำงานในป่าก็ไม่ถอน ปลวกก็ไม่กัดกิน ยังคงเป็นพืชต่อไป ถูก
เมฆฝนตกรดแล้ว ก็งอกขึ้นด้วยดี เป็นเถาย่านทรายเล็กและอ่อนมีย่านห้อยย้อย
เข้าไปอาศัยต้นสาละ'
เทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นสาละนั้นจึงกล่าวว่า 'ทำไมพวกท่านอารามเทวดา วนเทวดา
รุกขเทวดา และเทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไม้อันเป็นโอสถหญ้าและต้นไม้เจ้าป่า ผู้เป็นมิตร
อำมาตย์ ญาติสาโลหิตเมื่อเห็นอนาคตภัยในเมล็ดพืชแห่งเถาย่านทรายจึงพากันมา
ปลอบโยนอย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย เมล็ด
พืชแห่งเถาย่านทรายนั้น บางทีนกยูงอาจกลืนกินบ้าง เนื้ออาจเคี้ยวกินบ้าง ไฟป่า
อาจไหม้บ้าง พวกคนทำงานในป่าอาจถอนบ้าง ปลวกอาจกัดกินบ้าง หรือไม่
งอกขึ้น' เถาย่านทรายนี้ เล็กและอ่อนมีย่านห้อยย้อยอยู่ มีสัมผัสอันนำความสุข
มาให้ เถาย่านทรายนั้น เลื้อยพันต้นสาละนั้น ครั้นเลื้อยพันแล้ว ตั้งอยู่ข้างบน
เหมือนร่ม แตกเถาอยู่ข้างล่าง ทำลายลำต้นใหญ่ ๆ ของต้นสาละนั้นเสีย
เทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นสาละนั้นกล่าวอย่างนี้ว่า 'พวกท่านอารามเทวดา วนเทวดา
รุกขเทวดา และพวกเทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไม้อันเป็นโอสถหญ้าและต้นไม้เจ้าป่า ผู้เป็น
มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต เมื่อเห็นอนาคตภัย ในเมล็ดพืชแห่งเถาย่านทรายนี้

เชิงอรรถ :
1 อารามเทวดา หมายถึงเทวดาผู้สถิตอยู่ในสวนไม้ดอกและไม้ผล (ม.มู.อ. 2/469/279)
2 วนเทวดา หมายถึงเทวดาผู้สถิตอยู่ในป่าอันธวันและป่าสุภควันเป็นต้น (ม.มู.อ. 2/469/279)
3 รุกขเทวดา หมายถึงเทวดาผู้สถิตอยู่ที่ต้นสะเดาเป็นต้น ซึ่งเขารักษาไว้อย่างดี (ม.มู.อ. 2/469/279)
4 ดูเชิงอรรถที่ 3 ข้อ 65 (อากังเขยยสูตร) หน้า 57 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :510 }