เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 5. จูฬธัมมสมาทานสูตร

ทรงสรรเสริญธัมมทินนาภิกษุณี

[467] ลำดับนั้น วิสาขอุบาสกชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของธัมมทินนา-
ภิกษุณีแล้ว ลุกจากอาสนะ น้อมไหว้ธัมมทินนาภิกษุณี กระทำประทักษิณแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้
กราบทูลเรื่องที่ตนสนทนาธรรมีกถากับธัมมทินนาภิกษุณีให้ทรงทราบทุกประการ
เมื่อวิสาขอุบาสกกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า "วิสาขะ
ธัมมทินนาภิกษุณีเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก หากเธอจะพึงสอบถามเนื้อความนั้น
กับเรา แม้เราก็จะพึงตอบเนื้อความนั้นเหมือนอย่างที่ธัมมทินนาภิกษุณีตอบแล้ว
เนื้อความแห่งคำตอบนั้นเป็นดังนั้นนั่นแล ท่านควรทรงจำไว้อย่างนั้นเถิด"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว วิสาขอุบาสกมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬเวทัลลสูตรที่ 4 จบ

5. จูฬธัมมสมาทานสูตร
ว่าด้วยการสมาทานธรรม1สูตรเล็ก

[468] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรม 4 ประการนี้

เชิงอรรถ :
1 คำว่า การสมาทานธรรม แปลจากคำว่า "ธัมมสมาทาน" แยกอธิบายดังนี้ คือ หมายถึงลัทธิหรือข้อวัตร
ปฏิบัติ ได้แก่ จริยาที่ตนยึดถือ คำว่า สมาทาน หมายถึงถือปฏิบัติ (ม.มู.อ. 2/468/279)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :508 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 5. จูฬธัมมสมาทานสูตร

การสมาทานธรรม 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
2. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
3. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต
4. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคต

การสมาทานธรรมที่มีสุขแต่มีทุกข์เป็นวิบาก

[469] การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต
เป็นอย่างไร
คือ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า 'โทษ
ในกามทั้งหลายไม่มี' สมณพราหมณ์พวกนั้นย่อมถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกาม
ทั้งหลาย บำเรอกับพวกนางปริพาชิกาที่เกล้ามวยผมและกล่าวอย่างนี้ว่า 'ทำไม
ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้นเมื่อเห็นอนาคตภัยในกามทั้งหลาย จึงกล่าวถึงการละ
กามทั้งหลาย บัญญัติการกำหนดรู้กามทั้งหลาย (อันที่จริง) การได้สัมผัสแขนอัน
มีขนอ่อนนุ่มของนางปริพาชิกานี้เป็นความสุข' แล้วก็ถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกาม
ทั้งหลาย ครั้นถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกามทั้งหลาย หลังจากตายแล้ว ไปเกิดในอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าเผ็ดร้อน ในที่ที่ตนเกิดนั้น และ
กล่าวอย่างนี้ว่า 'ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้นเมื่อเห็นอนาคตภัยในกามทั้งหลายนี้แล
จึงกล่าวถึงการละกามทั้งหลาย บัญญัติการกำหนดรู้กามทั้งหลาย อันที่จริงพวก
เรานี้ย่อมเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าเผ็ดร้อน เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกาม
เป็นต้นเหตุ'
เปรียบเหมือนผลสุกของเถาย่านทราย จะพึงแตกในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน
พืชแห่งเถาย่านทรายนั้นจะพึงตกลงที่โคนต้นสาละต้นใดต้นหนึ่ง เทวดาที่สิงอยู่ที่
ต้นสาละนั้นกลัว หวาดเสียว และถึงความสะดุ้ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :509 }