เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 4. จูฬเวทัลลสูตร

"อนุสัยชนิดไหนนอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนา อนุสัยชนิดไหนนอนเนื่องอยู่ใน
ทุกขเวทนา อนุสัยชนิดไหนนอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา"
"ราคานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือความกำหนัด) นอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนา
ปฏิฆานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือความขัดเคือง) นอนเนื่องอยู่ในทุกขเวทนา
อวิชชานุสัย(กิเลสที่นอนเนื่องคือความไม่รู้จริง) นอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา"
"ราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนาทั้งหมดหรือ ปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่ใน
ทุกขเวทนาทั้งหมดหรือ อวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมดหรือ"
"ราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนาทั้งหมดหามิได้ ปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่
ในทุกขเวทนาทั้งหมดหามิได้ อวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนาทั้งหมด
หามิได้"
"ธรรมอะไรจะพึงละได้ในสุขเวทนา ธรรมอะไรจะพึงละได้ในทุกขเวทนา
ธรรมอะไรจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา"
"ราคานุสัยจะพึงละได้ในสุขเวทนา ปฏิฆานุสัยจะพึงละได้ในทุกขเวทนา
อวิชชานุสัยจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา"
"แม่เจ้าขอรับ ราคานุสัยจะพึงละได้ในสุขเวทนาทั้งหมดหรือ ปฏิฆานุสัยจะ
พึงละได้ในทุกขเวทนาทั้งหมดหรือ อวิชชานุสัยจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา
ทั้งหมดหรือ"
"ท่านวิสาขะ ราคานุสัยจะพึงละได้ในสุขเวทนาทั้งหมดหามิได้ ปฏิฆานุสัยจะ
พึงละได้ในทุกขเวทนาทั้งหมดหามิได้ อวิชชานุสัยจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา
ทั้งหมดหามิได้ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ ย่อมละราคะได้ด้วย
ปฐมฌานนั้น ราคานุสัยมิได้นอนเนื่องอยู่ในปฐมฌานนั้น
อนึ่ง ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นอยู่ว่า 'เมื่อไร เราจะได้บรรลุ
อายตนะ ที่พระอริยะทั้งหลายบรรลุแล้ว ดำรงอยู่ในบัดนี้' เมื่อภิกษุนั้นตั้งความ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :506 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 4. จูฬเวทัลลสูตร

ปรารถนาในวิโมกข์ทั้งหลายอันเป็นอนุตตรธรรม1อย่างนี้ โทมนัสย่อมเกิดขึ้นเพราะ
ความปรารถนาเป็นปัจจัย ท่านละปฏิฆะได้ด้วยโทมนัสนั้น ปฏิฆานุสัยมิได้นอน
เนื่องอยู่ในโทมนัสนั้น อนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับ
ไปก่อนแล้ว ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้บรรลุจตุตถฌาน ที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติ
บริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ ย่อมละอวิชชาได้ด้วยจตุตถฌานนั้น อวิชชานุสัยมิได้
นอนเนื่องอยู่ในจตุตถฌานนั้น"
[466] "แม่เจ้าขอรับ อะไรเป็นคู่เปรียบ2แห่งสุขเวทนา"
"ท่านวิสาขะ ทุกขเวทนาเป็นคู่เปรียบแห่งสุขเวทนา"
"อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งทุกขเวทนา"
"สุขเวทนาเป็นคู่เปรียบแห่งทุกขเวทนา"
"อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา"
"อวิชชาเป็นคู่เปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา"
"อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งอวิชชา"
"วิชชาเป็นคู่เปรียบแห่งอวิชชา"
"อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งวิชชา"
"วิมุตติเป็นคู่เปรียบแห่งวิชชา"
"อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งวิมุตติ"
"นิพพานเป็นคู่เปรียบแห่งวิมุตติ"
"แม่เจ้าขอรับ อะไรเป็นคู่เปรียบแห่งนิพพาน"
"ท่านวิสาขะ ท่านก้าวเลยปัญหาไปเสียแล้ว ไม่อาจกำหนดที่สุดแห่งปัญหาได้
เพราะพรหมจรรย์มีนิพพานเป็นที่หยั่งลง มีนิพพานเป็นจุดหมาย มีนิพพานเป็นที่สุด
ถ้าท่านยังหวังอยู่ก็ควรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลถามเนื้อความนี้เถิด พระผู้มี-
พระภาคทรงตอบแก่ท่านอย่างไร ท่านควรทรงจำคำตอบไว้อย่างนั้นเถิด"

เชิงอรรถ :
1 อนุตตรธรรม หมายถึงมรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 (อภิ.สงฺ.(แปล) 34/1300/328)
2 คู่เปรียบ ในที่นี้มี 2 ความหมาย (1) หมายถึงคู่เปรียบที่ขัดแย้งกัน เช่น สุขกับทุกข์ (2) หมายถึง
คู่เปรียบที่คล้อยตามกันคือวิมุตติและนิพพานอันเป็นโลกุตตรธรรม (ม.มู.อ. 2/466/277)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :507 }