เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 4. จูฬเวทัลลสูตร

"แม่เจ้าขอรับ สักกายทิฏฐิไม่มีได้อย่างไร"
"ท่านวิสาขะ พระอริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ผู้ได้สดับแล้ว ได้พบพระอริยะ
ทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของพระอริยะ
พบสัตบุรุษทั้งหลาย ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ได้รับคำแนะนำดีแล้วในธรรมของ
สัตบุรุษ ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป
บ้าง ไม่พิจารณาเห็นรูปในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง ไม่พิจารณาเห็น
เวทนา ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นสัญญา ฯลฯ ไม่พิจารณาเห็นสังขารทั้งหลาย ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามี
วิญญาณบ้าง ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่พิจารณาเห็นอัตตาใน
วิญญาณบ้าง สักกายทิฏฐิไม่มีได้ อย่างนี้แล"

มรรคมีองค์ 8 กับขันธ์ 3

[462] "แม่เจ้าขอรับ อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นอย่างไร"
"ท่านวิสาขะ อริยมรรคมีองค์ 8 นี้ คือ

1. สัมมาทิฏฐิ 2. สัมมาสังกัปปะ
3. สัมมาวาจา 4. สัมมากัมมันตะ
5. สัมมาอาชีวะ 6. สัมมาวายามะ
7. สัมมาสติ 8. สัมมาสมาธิ"

"อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นสังขตธรรม1หรือเป็นอสังขตธรรม2"
"อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นสังขตธรรม"
"พระผู้มีพระภาคทรงจัดขันธ์ 3 ประการ เข้าในอริยมรรคมีองค์ 8 หรือว่า
ทรงจัดอริยมรรคมีองค์ 8 เข้าในขันธ์ 3 ประการ"

เชิงอรรถ :
1 สังขตธรรม หมายถึงธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่ง ได้แก่ ขันธ์ 5 (อภิ.สงฺ.(แปล) 34/1089/277)
2 อสังขตธรรม หมายถึงธรรมที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ได้แก่ นิพพาน (อภิ.สงฺ.(แปล) 34/1090/278)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :502 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 4. จูฬเวทัลลสูตร

"พระผู้มีพระภาคไม่ทรงจัดขันธ์ 3 ประการ เข้าในอริยมรรคมีองค์ 8 แต่
ทรงจัดอริยมรรคมีองค์ 8 เข้าในขันธ์ 3 ประการ คือ
1. สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ทรงจัดเข้าในสีลขันธ์
2. สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ทรงจัดเข้าในสมาธิขันธ์
3. สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ ทรงจัดเข้าในปัญญาขันธ์"

สมาธิและสังขาร

"แม่เจ้าขอรับ ธรรมชนิดใดเป็นสมาธิ ธรรมเหล่าใดเป็นนิมิตของสมาธิ
ธรรมเหล่าใดเป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ การเจริญสมาธิ เป็นอย่างไร"
"ท่านวิสาขะ ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งเป็นสมาธิ สติปัฏฐาน 4 เป็น
นิมิตของสมาธิ สัมมัปปธาน 4 เป็นเครื่องอุดหนุนสมาธิ การเสพ1 การเจริญ
การทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้นนั่นแล เป็นการเจริญสมาธิ"
[463] "แม่เจ้าขอรับ สังขารมีเท่าไร"
"ท่านวิสาขะ สังขารมี 3 ประการ คือ (1) กายสังขาร2 (2) วจีสังขาร3
(3) จิตตสังขาร4"
"ก็กายสังขารเป็นอย่างไร วจีสังขารเป็นอย่างไร จิตตสังขารเป็นอย่างไร"
"ลมอัสสาสะ(ลมหายใจเข้า) และลมปัสสาสะ(ลมหายใจออก) เป็นกายสังขาร
วิตกและวิจารเป็นวจีสังขาร สัญญาและเวทนาเป็นจิตตสังขาร"

เชิงอรรถ :
1 การเสพ ในที่นี้หมายถึงการเสพที่เป็นไปชั่วขณะจิตเดียว (ม.มู.อ. 2/462/271)
2 กายสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางกาย ได้แก่ลมหายใจ (ม.มู.อ. 2/463/272, องฺ.ติก.อ.
2/23/101)
3 วจีสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางวาจา ได้แก่ วิตกและวิจาร หรือวจีสัญเจตนา คือความ
จงใจทางวาจา (ม.มู.อ. 2/463/272, องฺ.ติก.อ.2/23/101)
4 จิตตสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางใจ ได้แก่ สัญญาและเวทนา หรือมโนสัญเจตนา คือ
ความจงใจทางใจ (ม.มู.อ. 2/463/272, องฺ.ติก.อ. 2/23/101)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :503 }