เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 3. มหาเวทัลลสูตร

"ถ้าเช่นนั้น ผมจักอุปมาให้ท่านฟัง เพราะวิญญูชนบางพวกในโลกนี้ย่อมทราบ
ความแห่งภาษิตได้ด้วยอุปมา เมื่อประทีปน้ำมันกำลังติดไฟอยู่ แสงสว่างอาศัย
เปลวไฟจึงปรากฏ เปลวไฟก็อาศัยแสงสว่างจึงปรากฏอยู่แม้ฉันใด อายุอาศัยไออุ่น
ดำรงอยู่ ไออุ่นก็อาศัยอายุดำรงอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน"
[457] "ท่านผู้มีอายุ อายุสังขาร1 กับเวทนียธรรม2เป็นอันเดียวกัน หรือต่างกัน"
"ท่านผู้มีอายุ อายุสังขารกับเวทนียธรรม ไม่เป็นอันเดียวกัน (ถ้า) อายุสังขาร
กับเวทนียธรรมเป็นอันเดียวกันแล้ว การออกจากสมาบัติของภิกษุผู้เข้าสัญญา-
เวทยิตนิโรธ ก็ไม่พึงปรากฏ แต่เพราะอายุสังขารกับเวทนียธรรมต่างกัน ฉะนั้น
การออกจากสมาบัติของภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ จึงปรากฏ"
"เมื่อธรรมเท่าไรละกายนี้ไป กายนี้จึงถูกทอดทิ้งนอนนิ่งเหมือนท่อนไม้ที่
ปราศจากเจตนา"
"เมื่อธรรม 3 ประการ คือ (1) อายุ (2) ไออุ่น (3) วิญญาณ3 ละกายนี้ไป
กายนี้จึงถูกทอดทิ้ง นอนนิ่งเหมือนท่อนไม้ที่ปราศจากเจตนา"
"สัตว์ผู้ตายคือทำกาละไปแล้วกับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธต่างกันอย่างไร"
"สัตว์ผู้ตายคือทำกาละไปแล้วมีกายสังขาร วจีสังขาร และจิตตสังขาร4ดับระงับไป
มีอายุหมดสิ้นไป ไม่มีไออุ่น มีอินทรีย์แตกทำลาย ส่วนภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิต-
นิโรธมีกายสังขาร วจีสังขาร และจิตตสังขารดับ ระงับไป แต่อายุยังไม่หมดสิ้น
ยังมีไออุ่นมีอินทรีย์ผ่องใส
สัตว์ผู้ตายคือทำกาละไปแล้วกับภิกษุผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธต่างกันอย่างนี้"

เชิงอรรถ :
1 อายุสังขาร หมายถึงอายุนั่นเอง (ม.มู.อ. 2/457/258)
2 เวทนียธรรม หมายถึงเวทนาธรรม (ม.มู.อ. 2/457/258)
3 วิญญาณ หมายถึงจิต (ม.มู.อ. 2/457/259)
4 กายสังขาร หมายถึงลมหายใจเข้าออก วจีสังขาร หมายถึงวิตกวิจาร จิตตสังขาร หมายถึงสัญญาเวทนา
(ม.มู.อ. 2/457/259)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :495 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 3. มหาเวทัลลสูตร

ปัจจัยแห่งเจโตวิมุตติ

[458] "ท่านผู้มีอายุ ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขมีเท่าไร"
"ท่านผู้มีอายุ ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขมี 4 ประการ
คือ (1) เพราะละสุขได้ (2) เพราะละทุกข์ได้ (3) เพราะโสมนัสดับไปก่อน
(4) เพราะโทมนัสดับไปก่อนแล้ว ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้จึงบรรลุจตุตถฌาน ซึ่งไม่มี
ทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขมี 4 ประการนี้แล"
"ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิต1 มีเท่าไร"
"ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี 2 ประการ คือ
1. การไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง2
2. การมนสิการถึงนิพพานธาตุ ซึ่งไม่มีนิมิต3
ปัจจัยแห่งการเข้าเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี 2 ประการนี้แล"
"ปัจจัยแห่งการตั้งอยู่แห่งเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิต มีเท่าไร"
"ปัจจัยแห่งการตั้งอยู่แห่งเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี 3 ประการ คือ
1. ไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง
2. มนสิการถึงนิพพานธาตุ ซึ่งไม่มีนิมิต
3. อภิสังขาร4ในเบื้องต้น
ปัจจัยแห่งการตั้งอยู่แห่งเจโตวิมุตติ ซึ่งไม่มีนิมิตมี 3 ประการนี้แล"

เชิงอรรถ :
1 นิมิต ในความหมายนี้หมายถึงการออกจากนิโรธสมาบัติด้วยผลสมาบัติซึ่งเป็นผลเกิดจากวิปัสสนา (ม.มู.อ.
2/458/260)
2 นิมิตทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอารมณ์มีรูปเป็นต้น (ม.มู.อ. 2/458/260)
3 การมนสิการถึงนิพพานซึ่งไม่มีนิมิต หมายถึงการมนสิการถึงธรรมที่เกิดร่วมกับผลสมาบัติ (ม.มู.อ.
2/458/260)
4 อภิสังขาร หมายถึงการกำหนดระยะเวลาอยู่ในสมาธิ (ม.มู.อ. 2/458/260)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :496 }