เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 3. มหาเวทัลลสูตร

เวทนา สัญญา และวิญญาณ

[450] "ท่านผู้มีอายุ สภาวะที่เรียกว่า 'เวทนา เวทนา' เพราะเหตุไรหนอแล
จึงเรียกว่า 'เวทนา"
"ท่านผู้มีอายุ สภาวะเสวยอารมณ์ สภาวะเสวยอารมณ์ เหตุนั้น จึงเรียกว่า
'เวทนา' สภาวะเสวยอารมณ์อะไร คือ เสวยอารมณ์สุขบ้าง เสวยอารมณ์ทุกข์บ้าง
เสวยอารมณ์อทุกขมสุขบ้าง เหตุนั้น สภาวะเสวยอารมณ์ สภาวะเสวยอารมณ์
จึงเรียกว่า 'เวทนา"
"สภาวะที่เรียกว่า 'สัญญา สัญญา' เพราะเหตุไรหนอแลจึงเรียกว่า 'สัญญา"
"สภาวะกำหนดหมาย สภาวะกำหนดหมาย เหตุนั้น จึงเรียกว่า 'สัญญา'
สภาวะกำหนดหมายอะไร คือ กำหนดหมายสีเขียวบ้าง กำหนดหมาย
สีเหลืองบ้าง กำหนดหมายสีแดงบ้าง กำหนดหมายสีขาวบ้าง เหตุนั้น สภาวะ
กำหนดหมาย สภาวะกำหนดหมาย จึงเรียกว่า 'สัญญา"
"เวทนา สัญญา และวิญญาณ 3 ประการนี้ รวมกัน หรือแยกกัน และ
สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้หรือไม่"
"เวทนา สัญญา และวิญญาณ 3 ประการนี้ รวมกัน ไม่แยกกัน และไม่
สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้ เพราะเวทนาเสวยอารมณ์สิ่งใด สัญญา
ก็กำหนดหมายสิ่งนั้น สัญญากำหนดหมายสิ่งใด วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น เหตุนั้น
ธรรม 3 ประการนี้ จึงรวมกัน ไม่แยกกัน และไม่สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่
ต่างกันได้"
[451] "ท่านผู้มีอายุ พระโยคาวจรผู้มีมโนวิญญาณ1อันบริสุทธิ์ สละแล้ว
จากอินทรีย์ 5 จะพึงรู้อะไร"

เชิงอรรถ :
1 มโนวิญญาณ ในที่นี้หมายถึงจิตในฌานที่ 4 อันเป็นไปในรูปาวจรภูมิ (ม.มู.อ. 2/451/253)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :490 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 3. มหาเวทัลลสูตร

"ท่านผู้มีอายุ พระโยคาวจรผู้มีมโนวิญญาณอันบริสุทธิ์สละแล้วจากอินทรีย์ 5
พึงรู้อากาสานัญจายตนฌานว่า 'อากาศหาที่สุดมิได้' พึงรู้วิญญาณัญจายตนฌานว่า
'วิญญาณหาที่สุดมิได้' พึงรู้อากิญจัญญายตนฌานว่า 'ไม่มีอะไร"1
"พระโยคาวจรย่อมรู้ธรรมที่ตนจะพึงรู้ด้วยอะไร"
"พระโยคาวจรย่อมรู้ธรรมที่ตนจะพึงรู้ด้วยปัญญาจักษุ"2
"ปัญญามีไว้เพื่ออะไร"
"ปัญญามีไว้เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อการกำหนดรู้ และเพื่อการละ"

ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ

[452] "ท่านผู้มีอายุ ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิมีเท่าไร"
"ท่านผู้มีอายุ ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิมี 2 ประการ คือ
1. ปรโตโฆสะ3(การได้สดับจากบุคคลอื่น)
2. โยนิโสมนสิการ4(การมนสิการโดยแยบคาย)
ปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฏฐิมี 2 ประการนี้แล"

เชิงอรรถ :
1 ข้อความนี้หมายถึงพระโยคาวจรผู้บำเพ็ญเพียรอาศัยมโนวิญญาณ กล่าวคือรูปาวจรฌานจิตในฌานที่ 4
เป็นพื้นฐาน จึงจะสามารถบำเพ็ญให้อรูปาวจรสมาบัติที่ 1 คือ อากาสานัญจายตนสมาบัติให้เกิดขึ้นได้
สามารถให้อรูปาวจรสมาบัติอื่นเกิดขึ้นต่อมาตามลำดับ (ม.มู.อ. 2/451/253)
2 ปัญญาจักษุ ในที่นี้หมายถึงสมาธิปัญญา และวิปัสสนาปัญญา สมาธิปัญญา ทำหน้าที่กำจัดโมหะ
วิปัสสนาปัญญา ทำหน้าที่พิจารณาไตรลักษณ์เป็นอารมณ์ (ม.มู.อ. 2/451/254)
3 ปรโตโฆสะ ในที่นี้หมายถึงการฟังธรรมเป็นที่สบายเหมาะสมแก่ตน เช่นพระสารีบุตรเถระได้ฟังธรรมจาก
พระอัสสชิเถระว่า 'ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ...' (ดู วิ.ม. (แปล) 4/60/73) (ม.มู.อ. 2/452/254)
4 ดูเชิงอรรถที่ 2 ข้อ 15 (สัพพาสวสูตร) หน้า 18 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :491 }