เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 3. มหาเวทัลลสูตร

"บุคคลรู้ชัด บุคคลรู้ชัด เหตุนั้น จึงเรียกว่า 'ผู้มีปัญญา' บุคคลรู้ชัดอะไร
คือ รู้ชัดว่า 'นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา' เหตุนั้น
บุคคลรู้ชัด บุคคลรู้ชัด จึงเรียกว่า 'ผู้มีปัญญา"
"สภาวะที่เรียกว่า 'วิญญาณ วิญญาณ' เพราะเหตุไรหนอแล จึงเรียกว่า
'วิญญาณ"
"สภาวะรู้แจ้ง สภาวะรู้แจ้ง เหตุนั้น จึงเรียกว่า 'วิญญาณ' สภาวะรู้แจ้งอะไร
คือ รู้แจ้งสุขบ้าง รู้แจ้งทุกข์บ้าง รู้แจ้งอทุกขมสุขบ้าง เหตุนั้น สภาวะรู้แจ้ง
สภาวะรู้แจ้ง จึงเรียกว่า 'วิญญาณ"
"ปัญญาและวิญญาณ 2 ประการนี้ รวมกัน หรือแยกกัน และสามารถ
แยกแยะ บัญญัติหน้าที่ต่างกันได้หรือไม่"
"ปัญญาและวิญญาณ 2 ประการนี้ รวมกัน ไม่แยกกัน และไม่สามารถ
แยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้ เพราะปัญญารู้ชัดสิ่งใด วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น
วิญญาณรู้แจ้งสิ่งใด ปัญญาก็รู้ชัดสิ่งนั้น เหตุนั้นธรรม 2 ประการนี้ จึงรวมกัน
ไม่แยกกัน และไม่สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้"
"ท่านผู้มีอายุ ปัญญาและวิญญาณ 2 ประการนี้ รวมกัน ไม่แยกกัน แต่
มีกิจที่จะพึงทำต่างกันบ้างหรือไม่"
"ท่านผู้มีอายุ ปัญญาและวิญญาณ 2 ประการนี้ รวมกัน ไม่แยกกัน แต่
ปัญญา1ควรเจริญ วิญญาณ2ควรกำหนดรู้ นี้เป็นกิจที่จะพึงทำต่างกันแห่งธรรม 2
ประการนี้"

เชิงอรรถ :
1 ปัญญา ในที่นี้หมายถึงมัคคปัญญา (ปัญญาในอริยมรรค)
2 วิญญาณ ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนาวิญญาณ (ม.มู.อ. 2/451/250)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :489 }