เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 3. มหาเวทัลลสูตร

3. มหาเวทัลลสูตร
ว่าด้วยการสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปัญญา สูตรใหญ่
ปัญญากับวิญญาณ

[449] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเย็น ท่านพระมหาโกฏฐิกะออกจากที่
หลีกเร้น1แล้ว เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่
บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
ท่านพระมหาโกฏฐิกะครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงถามเรื่องนี้กับท่านพระสารีบุตรว่า
"ท่านผู้มีอายุ บุคคลที่เรียกว่า 'ผู้มีปัญญาทราม ผู้มีปัญญาทราม' เพราะ
เหตุไรหนอแล2จึงเรียกว่า 'ผู้มีปัญญาทราม"
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า "ท่านผู้มีอายุ บุคคลไม่รู้ชัด บุคคลไม่รู้ชัด เหตุนั้น
จึงเรียกว่า 'ผู้มีปัญญาทราม' บุคคลไม่รู้ชัดอะไร คือ ไม่รู้ชัดว่า 'นี้ทุกข์
นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา' เหตุนั้น บุคคลไม่รู้ชัด
บุคคลไม่รู้ชัด จึงเรียกว่า 'ผู้มีปัญญาทราม'
ท่านพระมหาโกฏฐิกะชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า "ดีละ ท่านผู้
มีอายุ" แล้วได้ถามปัญหาต่อไปว่า "ท่านผู้มีอายุ บุคคลที่เรียกว่า 'ผู้มีปัญญา
ผู้มีปัญญา' เพราะเหตุไรหนอแลจึงเรียกว่า 'ผู้มีปัญญา'

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 ขัอ 81 (สัลเลขสูตร) หน้า 70 ในเล่มนี้
2 คำว่า เพราะเหตุไรหนอแล แปลจากคำว่า "กิตฺตาวตา นุ โข" เป็นคำถามหาเหตุ แท้จริงการถามนั้นมี
5 อย่าง คือ (1) อทิฏฐโชตนาปุจฉา - การถามให้แสดงเรื่องที่ตนไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มาก่อน (2) ทิฏฐ-
สังสันทนาปุจฉา - การถามให้ชี้แจงเรื่องที่เคยทราบมาแล้ว เพื่อเทียบกันดูกับเรื่องที่ตนรู้มา (3) วิมติ-
เฉทนาปุจฉา - การถามเพื่อให้คลายความสงสัย (4) อนุมติปุจฉา - การถามเพื่อให้มีความคิดเห็นคล้อยตาม
(5) กเถตุกามยตาปุจฉา - การถามเพื่อมุ่งจะกล่าวชี้แจงต่อ เป็นลักษณะของการถามเอง ตอบเอง ในที่นี้
พระมหาโกฏฐิกะถามในลักษณะของทิฏฐสังสันทนาปุจฉา (ม.มู.อ. 2/449/242-243)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :488 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 3. มหาเวทัลลสูตร

"บุคคลรู้ชัด บุคคลรู้ชัด เหตุนั้น จึงเรียกว่า 'ผู้มีปัญญา' บุคคลรู้ชัดอะไร
คือ รู้ชัดว่า 'นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา' เหตุนั้น
บุคคลรู้ชัด บุคคลรู้ชัด จึงเรียกว่า 'ผู้มีปัญญา"
"สภาวะที่เรียกว่า 'วิญญาณ วิญญาณ' เพราะเหตุไรหนอแล จึงเรียกว่า
'วิญญาณ"
"สภาวะรู้แจ้ง สภาวะรู้แจ้ง เหตุนั้น จึงเรียกว่า 'วิญญาณ' สภาวะรู้แจ้งอะไร
คือ รู้แจ้งสุขบ้าง รู้แจ้งทุกข์บ้าง รู้แจ้งอทุกขมสุขบ้าง เหตุนั้น สภาวะรู้แจ้ง
สภาวะรู้แจ้ง จึงเรียกว่า 'วิญญาณ"
"ปัญญาและวิญญาณ 2 ประการนี้ รวมกัน หรือแยกกัน และสามารถ
แยกแยะ บัญญัติหน้าที่ต่างกันได้หรือไม่"
"ปัญญาและวิญญาณ 2 ประการนี้ รวมกัน ไม่แยกกัน และไม่สามารถ
แยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้ เพราะปัญญารู้ชัดสิ่งใด วิญญาณก็รู้แจ้งสิ่งนั้น
วิญญาณรู้แจ้งสิ่งใด ปัญญาก็รู้ชัดสิ่งนั้น เหตุนั้นธรรม 2 ประการนี้ จึงรวมกัน
ไม่แยกกัน และไม่สามารถแยกแยะบัญญัติหน้าที่ต่างกันได้"
"ท่านผู้มีอายุ ปัญญาและวิญญาณ 2 ประการนี้ รวมกัน ไม่แยกกัน แต่
มีกิจที่จะพึงทำต่างกันบ้างหรือไม่"
"ท่านผู้มีอายุ ปัญญาและวิญญาณ 2 ประการนี้ รวมกัน ไม่แยกกัน แต่
ปัญญา1ควรเจริญ วิญญาณ2ควรกำหนดรู้ นี้เป็นกิจที่จะพึงทำต่างกันแห่งธรรม 2
ประการนี้"

เชิงอรรถ :
1 ปัญญา ในที่นี้หมายถึงมัคคปัญญา (ปัญญาในอริยมรรค)
2 วิญญาณ ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนาวิญญาณ (ม.มู.อ. 2/451/250)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :489 }