เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 3. มหาเวทัลลสูตร

3. มหาเวทัลลสูตร
ว่าด้วยการสนทนาธรรมที่ทำให้เกิดปัญญา สูตรใหญ่
ปัญญากับวิญญาณ

[449] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นในเวลาเย็น ท่านพระมหาโกฏฐิกะออกจากที่
หลีกเร้น1แล้ว เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่
บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
ท่านพระมหาโกฏฐิกะครั้นนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงถามเรื่องนี้กับท่านพระสารีบุตรว่า
"ท่านผู้มีอายุ บุคคลที่เรียกว่า 'ผู้มีปัญญาทราม ผู้มีปัญญาทราม' เพราะ
เหตุไรหนอแล2จึงเรียกว่า 'ผู้มีปัญญาทราม"
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า "ท่านผู้มีอายุ บุคคลไม่รู้ชัด บุคคลไม่รู้ชัด เหตุนั้น
จึงเรียกว่า 'ผู้มีปัญญาทราม' บุคคลไม่รู้ชัดอะไร คือ ไม่รู้ชัดว่า 'นี้ทุกข์
นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา' เหตุนั้น บุคคลไม่รู้ชัด
บุคคลไม่รู้ชัด จึงเรียกว่า 'ผู้มีปัญญาทราม'
ท่านพระมหาโกฏฐิกะชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตรว่า "ดีละ ท่านผู้
มีอายุ" แล้วได้ถามปัญหาต่อไปว่า "ท่านผู้มีอายุ บุคคลที่เรียกว่า 'ผู้มีปัญญา
ผู้มีปัญญา' เพราะเหตุไรหนอแลจึงเรียกว่า 'ผู้มีปัญญา'

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 ขัอ 81 (สัลเลขสูตร) หน้า 70 ในเล่มนี้
2 คำว่า เพราะเหตุไรหนอแล แปลจากคำว่า "กิตฺตาวตา นุ โข" เป็นคำถามหาเหตุ แท้จริงการถามนั้นมี
5 อย่าง คือ (1) อทิฏฐโชตนาปุจฉา - การถามให้แสดงเรื่องที่ตนไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มาก่อน (2) ทิฏฐ-
สังสันทนาปุจฉา - การถามให้ชี้แจงเรื่องที่เคยทราบมาแล้ว เพื่อเทียบกันดูกับเรื่องที่ตนรู้มา (3) วิมติ-
เฉทนาปุจฉา - การถามเพื่อให้คลายความสงสัย (4) อนุมติปุจฉา - การถามเพื่อให้มีความคิดเห็นคล้อยตาม
(5) กเถตุกามยตาปุจฉา - การถามเพื่อมุ่งจะกล่าวชี้แจงต่อ เป็นลักษณะของการถามเอง ตอบเอง ในที่นี้
พระมหาโกฏฐิกะถามในลักษณะของทิฏฐสังสันทนาปุจฉา (ม.มู.อ. 2/449/242-243)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :488 }