เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 5. อนังคณสูตร

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า "อย่างนั้นนั่นแล ท่านผู้มีอายุ บุคคลผู้ไม่มีกิเลส
เพียงดังเนินและรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า 'เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน' พึงหวัง
ข้อนี้ได้ คือเขาจักไม่มนสิการสุภนิมิต เพราะไม่มนสิการสุภนิมิตนั้น ราคะจักไม่
ครอบงำจิต เขาจักเป็นผู้ไม่มีราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน มีจิตไม่
เศร้าหมองตายไป
ท่านโมคคัลลานะ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย ที่บรรดาบุคคล 2 ประเภทผู้มี
กิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า 'เป็นบุรุษต่ำทราม' แต่
อีกบุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า 'เป็นบุรุษประเสริฐ' และนี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ที่บรรดาบุคคล 2 ประเภทผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลหนึ่งบัณฑิต
กล่าวว่า 'เป็นบุรุษต่ำทราม' แต่อีกบุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า 'เป็นบุรุษประเสริฐ'

กิเลสเพียงดังเนิน

[60] ท่านพระมหาโมคคัลลานะถามว่า "ท่านผู้มีอายุ ท่านกล่าวว่า 'กิเลส
เพียงดังเนิน กิเลสเพียงดังเนิน' คำว่า 'กิเลสเพียงดังเนิน' นั่นเป็นชื่อของอะไรหนอ"
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า "ท่านผู้มีอายุ คำว่า 'กิเลสเพียงดังเนิน' นี้ เป็น
ชื่อของอิจฉาวจร1 ที่เป็นบาปอกุศล
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า 'เรา
เป็นผู้ต้องอาบัติหนอ ภิกษุทั้งหลายไม่พึงรู้ว่า เราต้องอาบัติแล้ว' แต่เป็นไปได้ที่
ภิกษุทั้งหลายพึงรู้ว่า ภิกษุนั้นต้องอาบัติแล้ว ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น
เพราะคิดว่า 'ภิกษุทั้งหลายรู้ว่า เราเป็นผู้ต้องอาบัติแล้ว' ความโกรธและความไม่
แช่มชื่นทั้ง 2 นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน

เชิงอรรถ :
1 อิจฉาวจร หมายถึงการประพฤติตนในทางต่ำทรามตามอำนาจความปรารถนา (ม.มู.อ. 1/60/155, ม.มู.
ฏีกา 1/60/311)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :48 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 5. อนังคณสูตร

เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า 'เรา
เป็นผู้ต้องอาบัติหนอ ภิกษุทั้งหลายพึงโจทเราในที่ลับเฉพาะ ไม่พึงโจทในท่ามกลางสงฆ์
แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุทั้งหลายพึงโจทภิกษุนั้นในท่ามกลางสงฆ์ ไม่พึงโจทในที่ลับเฉพาะ
ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า 'ภิกษุทั้งหลายโจทเราในท่าม
กลางสงฆ์ ไม่โจทในที่ลับเฉพาะ' ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง 2 นี้ ชื่อว่า
กิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า 'เรา
เป็นผู้ต้องอาบัติหนอ ภิกษุผู้เสมอกัน1 พึงโจทเรา ภิกษุผู้ไม่เสมอกันไม่พึงโจทเรา'
แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ไม่เสมอกันพึงโจทภิกษุนั้น ภิกษุผู้เสมอกันไม่โจทภิกษุนั้น ดังนั้น
ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า 'ภิกษุผู้ไม่เสมอกันโจทเรา แต่ภิกษุผู้
เสมอกันไม่โจทเรา' ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง 2 นี้ ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
'โอหนอ ขอพระศาสดาทรงซักถามเฉพาะเราบ่อย ๆ แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย ไม่ทรงซักถามภิกษุอื่น แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย' แต่เป็น
ไปได้ที่พระศาสดา พึงทรงซักถามภิกษุอื่นบ่อย ๆ แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุ
ทั้งหลาย ไม่ทรงซักถามภิกษุนั้นบ่อย ๆ แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย
ดังนั้น ภิกษุนั้นก็จะโกรธ ไม่แช่มชื่น เพราะคิดว่า 'พระศาสดาทรงซักถาม
ภิกษุอื่นบ่อย ๆ แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ไม่ทรงซักถามเราบ่อย ๆ
แล้วทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย' ความโกรธและความไม่แช่มชื่นทั้ง 2 นี้
ชื่อว่ากิเลสเพียงดังเนิน
เป็นไปได้ที่ภิกษุบางรูปในพระธรรมวินัยนี้ พึงมีความปรารถนาอย่างนี้ว่า
'โอหนอ ขอภิกษุทั้งหลายแวดล้อมเราเท่านั้นอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร
ไม่แวดล้อมภิกษุอื่นอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร' แต่เป็นไปได้ที่ภิกษุ
ทั้งหลายพึงแวดล้อมภิกษุอื่นอย่างหนาแน่นเข้าบ้านเพื่อภัตตาหาร ไม่แวดล้อมภิกษุ

เชิงอรรถ :
1 ภิกษุผู้เสมอกัน หมายถึงภิกษุผู้ต้องอาบัติโจทภิกษุผู้ต้องอาบัติข้อเดียวกัน (ม.มู.อ. 1/60/156)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :49 }