เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 1. สาเลยยกสูตร

2. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความฝ่ายนี้แล้วไม่ไป
บอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มา
บอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกแยกกัน ส่งเสริมคน
ที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่
ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
3. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ
4. เป็นผู้ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดแต่คำจริง
พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่
อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา
ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางวาจามี 4 ประการ
อย่างนี้แล
ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางใจมี 3 ประการ
อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้
1. เป็นผู้ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา คือ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์
อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า 'ทำอย่างไร ทรัพย์อัน
เป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นจะพึงเป็นของเรา'
2. เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท คือ ไม่มีจิตคิดร้ายว่า 'ขอสัตว์เหล่านี้ จง
เป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีจิตพยาบาท ไม่มีทุกข์ มีสุข รักษาตนเถิด'
3. เป็นสัมมาทิฏฐิ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า 'ทานที่ให้แล้วมีผล
ยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดี
และทำชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :477 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 1. สาเลยยกสูตร

โอปปาติกสัตว์มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้ง
โลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง มีอยู่
ในโลก'
ความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติธรรมทางใจมีอยู่ 3 ประการ
อย่างนี้แล
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ หลังจากตาย
แล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความประพฤติสม่ำเสมอ คือความประพฤติ
ธรรมเป็นเหตุ อย่างนี้

ผลแห่งความประพฤติสม่ำเสมอ

[442] พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้
ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า 'ทำอย่างไรหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในพวก
ขัตติยมหาศาล' เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในพวก
ขัตติยมหาศาล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือ
เป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า 'ทำอย่างไร
หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในพวกพราหมณมหาศาล ฯลฯ เราพึงเกิดในพวก
คหบดีมหาศาล' เป็นไปได้ที่หลังจากตายแล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในพวกคหบดี-
มหาศาล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลนั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอคือเป็นผู้
ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า 'ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช' เป็นไปได้ที่หลังจากตาย
แล้ว บุคคลนั้นจะพึงเกิดในเทพชั้นจาตุมหาราช ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคล
นั้นเป็นผู้ประพฤติสม่ำเสมอคือเป็นผู้ประพฤติธรรม อย่างนั้นแล
ถ้าบุคคลผู้ประพฤติสม่ำเสมอ คือผู้ประพฤติธรรมจะพึงหวังว่า 'ทำอย่างไร
หนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิดในเทพชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ เทพชั้นยามา ...
เทพชั้นดุสิต ... เทพชั้นนิมมานรดี ... เทพชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ... เทพผู้นับเนื่อง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :478 }