เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 1. สาเลยยกสูตร

ประนมมือต่อพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกประกาศชื่อและโคตร
ในสำนักของพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นั่งนิ่งอยู่ ณ ที่สมควร
แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
"ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้
หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก1
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้
หลังจากตายแล้วไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์"
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า "พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวก
ในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะความประพฤติ
ไม่สม่ำเสมอคือความประพฤติอธรรมเป็นเหตุ2
พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย สัตว์บางพวกในโลกนี้ หลังจากตายแล้วไปเกิด
ในสุคติโลกสวรรค์ เพราะความประพฤติสม่ำเสมอคือความประพฤติธรรมเป็นเหตุ"
พราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นกราบทูลว่า "เนื้อความแห่งธรรมที่ท่านพระโคดม
ตรัสไว้โดยย่อไม่ทรงชี้แจงให้พิสดาร ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ทราบโดยพิสดารได้
ขอท่านพระโคดมโปรดแสดงเนื้อความแห่งธรรมที่พระองค์ตรัสไว้โดยย่อไม่ทรงชี้แจง
ให้พิสดารนี้แก่ข้าพระองค์ทั้งหลาย โดยวิธีที่ข้าพระองค์ทั้งหลายจะพึงทราบโดย
พิสดารเถิด"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น ท่าน
ทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว"
พวกพราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาลาทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 68 (อากังเขยยสูตร) หน้า 61 ในเล่มนี้
2 ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ(วิสมจริยา) คือ ความประพฤติอธรรม(อธัมมจริยา) หมายถึงอกุศล-
กรรมบถ 10 ประการ (องฺ.ทสก.อ. 3/47/348) (วิสมจริยา + อธัมมจริยา = กุศลกรรมบถ 10 ประการ)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :472 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 1. สาเลยยกสูตร

อกุศลกรรมบถ 10

[440] "พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ
ความประพฤติอธรรมทางกายมี 3 ประการ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ
ความประพฤติอธรรมทางวาจามี 4 ประการ ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ
ความประพฤติอธรรมทางใจมี 3 ประการ
ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางกายมี 3 ประการ
อะไรบ้าง
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้1
1. เป็นผู้ฆ่าสัตว์ คือ เป็นคนหยาบช้า มีมือเปื้อนเลือด ปักใจอยู่ใน
การฆ่าและการทุบตี ไม่มีความละอาย ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งปวง
2. เป็นผู้ลักทรัพย์ คือ เป็นผู้ถือเอาทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจ
ของผู้อื่น ซึ่งอยู่ในบ้านหรือในป่าที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยจิตเป็นเหตุขโมย
3. เป็นผู้ประพฤติผิดในกาม คือ เป็นผู้ประพฤติล่วงในสตรีที่อยู่ในปกครอง
ของมารดา ที่อยู่ในปกครองของบิดา ที่อยู่ในปกครองของมารดา
บิดา ที่อยู่ในปกครองของพี่ชายน้องชาย ที่อยู่ในปกครองของพี่สาว
น้องสาว ที่อยู่ในปกครองของญาติ ที่อยู่ในปกครองของโคตร ที่
ประพฤติธรรม มีสามี มีกฎหมายคุ้มครอง โดยที่สุด แม้สตรีที่
บุรุษสวมด้วยพวงมาลัยหมายไว้
ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือความประพฤติอธรรมทางกายมี 3 ประการ
อย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.ทสก. (แปล) 24/211/346-347

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :473 }