เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 9. มหาอัสสปุรสูตร

การละนิวรณ์ 5

[425] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา
ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าทึบ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉัน
ภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอละอภิชฌา
(ความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น)ในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิต
ให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท มุ่ง
ประโยชน์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละ
ถีนมิทธะ(ความหดหู่และความเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มี
สติสัมปชัญญะอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความ
ฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว
ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา
[426] ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนคนกู้หนี้มาลงทุนจนประสบผลสำเร็จ
ใช้หนี้เก่าที่เป็นต้นทุนจนหมด เก็บกำไรที่เหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา เขาคิดว่า
'เมื่อก่อน เรากู้หนี้มาลงทุน การงานสำเร็จผลดีได้ใช้หนี้เก่าที่ยืมมาลงทุนหมดแล้ว
และกำไรก็ยังมีเหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยา' เพราะความไม่มีหนี้สินเป็นเหตุ
เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ
คนไข้ถึงความลำบาก เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง ต่อมาหายป่วย
บริโภคอาหารได้กลับมีกำลัง เขาคิดว่า 'เมื่อก่อน เราป่วย ถึงความลำบาก
เจ็บหนัก บริโภคอาหารไม่ได้ ไม่มีกำลัง บัดนี้หายป่วย บริโภคอาหารได้
มีกำลังเป็นปกติ' เพราะการหายจากโรคเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและ
ความสุขใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :458 }