เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 9. มหาอัสสปุรสูตร

รู้จักประมาณในโภชนะ

[422] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า 'เราทั้งหลายจักรู้จักประมาณใน
โภชนะ จักพิจารณาโดยแยบคายแล้วกลืนกินอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อความมัวเมา
ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพียงเพื่อกายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่อให้ชีวิตินทรีย์
เป็นไป เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ โดยอุบายนี้ เราจัก
กำจัดเวทนาเก่าเสียได้ และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความดำรงอยู่แห่งชีวิต
ความไม่มีโทษ และการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา'1 บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิด
อย่างนี้ว่า 'เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์ วจี-
สมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์ อาชีวะบริสุทธิ์ เป็นผู้คุ้มครองทวารแล้ว
ในอินทรีย์ทั้งหลาย และจักรู้จักประมาณในโภชนะ พอละ ด้วยกิจเพียงเท่านี้
เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะเรา
ทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มีอีก' เธอ
ทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอ
ทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอ
ทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

ตื่นบำเพ็ญเพียร

[423] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า 'เราทั้งหลายจักเป็นผู้ประกอบ
ความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็น
เครื่องขัดขวางด้วยการเดินจงกรมและการนั่งตลอดวัน จักชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
ธรรมเป็นเครื่องขัดขวางด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี
สำเร็จการนอนดุจราชสีห์โดยตะแคงข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบข้อ 23 หน้า 23 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :456 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 9. มหาอัสสปุรสูตร

หมายใจว่าจะลุกขึ้นตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรม
เป็นเครื่องขัดขวางด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี' บางที
เธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า 'เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกาย-
สมาจารบริสุทธิ์ วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์ อาชีวะบริสุทธิ์ เป็นผู้
คุ้มครองทวารแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย และรู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบความ
เพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่องแล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลาย
ทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะ เราทั้งหลายก็ได้
บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มีอีก' เธอทั้งหลายถึงความ
ยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจ
ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา
อย่าได้เสื่อมไปเลย

เจริญสติสัมปชัญญะ

[424] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า 'เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ
ทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้เข้า
การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร การฉัน การดื่ม การเคี้ยว
การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น
การพูด การนิ่ง' บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า 'เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริ-
โอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์ วจีสมาจารบริสุทธิ์ มโนสมาจารบริสุทธิ์
อาชีวะบริสุทธิ์แล้ว เป็นผู้คุ้มครองทวารแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณ
ในโภชนะ ประกอบความเพียรในธรรมเป็นเครื่องตื่นอย่างต่อเนื่อง และมี
สติสัมปชัญญะแล้ว พอละด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจ
เพียงเท่านี้ ประโยชน์จากความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจ
อะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปมิได้มีอีก' เธอทั้งหลายยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เรา
ขอบอกเธอทั้งหลาย ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่
ประโยชน์จากความเป็นสมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :457 }