เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 9. มหาอัสสปุรสูตร

"ภิกษุทั้งหลาย หมู่ชนรู้จักเธอทั้งหลายว่า 'สมณะ สมณะ' เธอทั้งหลาย
เมื่อเขาถามว่า 'ท่านทั้งหลายเป็นใคร' ก็ปฏิญญาว่า 'เราทั้งหลายเป็นสมณะ'
เมื่อเธอทั้งหลายนั้น ผู้มีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้ ก็ควรสำเหนียกว่า 'เรา
ทั้งหลายจักสมาทานประพฤติธรรม1ที่ทำให้เป็นสมณะและเป็นพราหมณ์ เมื่อเรา
ทั้งหลายปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ชื่อและปฏิญญานี้ของเราทั้งหลายก็จักเป็นความจริงแท้
ใช่แต่เท่านั้น เราทั้งหลายใช้สอยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย-
เภสัชบริขารของทายกเหล่าใด ปัจจัยทั้งหลายของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลมาก
มีอานิสงส์มากเพราะเราทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง บรรพชานี้ของเราทั้งหลาย ก็จักไม่
เป็นหมัน จักมีผล มีความเจริญ'
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้แล

หิริโอตตัปปะ

[416] ธรรมที่ทำให้เป็นสมณะและเป็นพราหมณ์ เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า 'เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ'
บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า 'เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว พอละ
ด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จาก
ความเป็นสมณะ2 เราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่ง
ขึ้นไปมิได้มี' เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย
ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็น
สมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

เชิงอรรถ :
1 ธรรม หมายถึงไตรลักษณ์ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา แต่ในที่นี้ทรงมุ่งแสดงหิริ
และโอตตัปปะ (ม.มู.อ. 2/415/220)
2 ประโยชน์จากความเป็นสมณะ มีหลายนัย ดังนี้ หมายถึงอริยมรรคมีองค์ 8 บ้าง หมายถึงความสิ้นราคะ
ความสิ้นโทสะ และความสิ้นโมหะบ้าง (ดู สํ.ม. (แปล) 19/36/34) แต่ในที่นี้หมายถึงมรรค 4 และผล 4
(ม.มู.อ. 2/416/222)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :452 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 9. มหาอัสสปุรสูตร

กายสมาจารบริสุทธิ์

[417] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า 'เราทั้งหลายจักมีกายสมาจาร
บริสุทธิ์1 ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น
ด้วยความเป็นผู้มีกายสมาจารอันบริสุทธิ์นั้น' บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่าง
นี้ว่า 'เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารบริสุทธิ์แล้ว พอละ
ด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จาก
ความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป
มิได้มี' เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย
ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็น
สมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

วจีสมาจารบริสุทธิ์

[418] กิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า 'เราทั้งหลายจักมีวจีสมาจารบริสุทธิ์2
ปรากฏ เปิดเผย ไม่บกพร่องและสำรวมระวัง จักไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยความ
เป็นผู้มีวจีสมาจารบริสุทธิ์นั้น' บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า 'เราทั้ง
หลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว มีกายสมาจารและวจีสมาจารบริสุทธิ์แล้ว พอละ
ด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จาก
ความเป็นสมณะเราทั้งหลายก็ถึงแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไป
มิได้มี' เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย
ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็น
สมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

เชิงอรรถ :
1 มีกายสมาจารบริสุทธิ์ หมายถึงภิกษุไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ใช้ฝ่ามือ ก้อนดิน
ท่อนไม้ หรือศัสตราทุบตีเบียดเบียนผู้อื่น หรือไม่เงื้อมือหรือท่อนไม้ไล่กาที่กำลังดื่มน้ำในหม้อน้ำ หรือจิก
กินข้าวสุกในบาตร (ม.มู.อ. 2/417/222)
2 มีวจีสมาจารบริสุทธิ์ หมายถึงภิกษุไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่กล่าวดูหมิ่นใครๆ หรือไม่
กล่าวถากถางเยาะเย้ยภิกษุใดๆ (ม.มู.อ. 2/418/223)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :453 }