เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 9. มหาอัสสปุรสูตร

รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่ยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ไม่ขัดเคือง
ในธรรมารมณ์ที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่
ทราบชัดถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรม
ตามความเป็นจริง เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่าง
หนึ่ง สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่
ติดใจเวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่
ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายจึงดับไป เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทาน
จึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา
มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสของภิกษุนั้นจึงดับ ความดับ
แห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำตัณหาสังขยวิมุตติ1โดยย่อของเรานี้
อนึ่ง เธอทั้งหลายจงทรงจำสาติภิกษุบุตรชาวประมงว่า เป็นผู้ติดอยู่ในข่ายคือ
ตัณหาและกองแห่งตัณหาใหญ่"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชม
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาตัณหาสังขยสูตรที่ 8 จบ

9. มหาอัสสปุรสูตร
ว่าด้วยเหตุการณ์ในอัสสปุรนิคม สูตรใหญ่
ข้อปฏิบัติของสมณะ

[415] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่อัสสปุรนิคมของพระราชกุมารชาวอังคะ
ในแคว้นอังคะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
1 ตัณหาสังขยวิมุตติ หมายถึงเทศนาเป็นเหตุหลุดพ้นเพราะความสิ้นไปแห่งตัณหา (ม.มู.อ. 2/414/219)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :451 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 9. มหาอัสสปุรสูตร

"ภิกษุทั้งหลาย หมู่ชนรู้จักเธอทั้งหลายว่า 'สมณะ สมณะ' เธอทั้งหลาย
เมื่อเขาถามว่า 'ท่านทั้งหลายเป็นใคร' ก็ปฏิญญาว่า 'เราทั้งหลายเป็นสมณะ'
เมื่อเธอทั้งหลายนั้น ผู้มีชื่ออย่างนี้ มีปฏิญญาอย่างนี้ ก็ควรสำเหนียกว่า 'เรา
ทั้งหลายจักสมาทานประพฤติธรรม1ที่ทำให้เป็นสมณะและเป็นพราหมณ์ เมื่อเรา
ทั้งหลายปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ชื่อและปฏิญญานี้ของเราทั้งหลายก็จักเป็นความจริงแท้
ใช่แต่เท่านั้น เราทั้งหลายใช้สอยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย-
เภสัชบริขารของทายกเหล่าใด ปัจจัยทั้งหลายของทายกเหล่านั้น ก็จักมีผลมาก
มีอานิสงส์มากเพราะเราทั้งหลาย อีกอย่างหนึ่ง บรรพชานี้ของเราทั้งหลาย ก็จักไม่
เป็นหมัน จักมีผล มีความเจริญ'
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้แล

หิริโอตตัปปะ

[416] ธรรมที่ทำให้เป็นสมณะและเป็นพราหมณ์ เป็นอย่างไร
คือ เธอทั้งหลายควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า 'เราทั้งหลายจักเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ'
บางทีเธอทั้งหลายจะมีความคิดอย่างนี้ว่า 'เราทั้งหลายเป็นผู้มีหิริโอตตัปปะแล้ว พอละ
ด้วยกิจเพียงเท่านี้ เราทั้งหลายทำกิจเสร็จแล้ว ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ประโยชน์จาก
ความเป็นสมณะ2 เราทั้งหลายก็ได้บรรลุแล้วโดยลำดับ กิจอะไร ๆ ที่ควรทำให้ยิ่ง
ขึ้นไปมิได้มี' เธอทั้งหลายถึงความยินดีด้วยกิจเพียงเท่านั้น เราขอบอกเธอทั้งหลาย
ขอเตือนเธอทั้งหลาย เมื่อกิจที่ควรทำให้ยิ่งขึ้นไปยังมีอยู่ ประโยชน์จากความเป็น
สมณะที่เธอทั้งหลายปรารถนา อย่าได้เสื่อมไปเลย

เชิงอรรถ :
1 ธรรม หมายถึงไตรลักษณ์ คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา แต่ในที่นี้ทรงมุ่งแสดงหิริ
และโอตตัปปะ (ม.มู.อ. 2/415/220)
2 ประโยชน์จากความเป็นสมณะ มีหลายนัย ดังนี้ หมายถึงอริยมรรคมีองค์ 8 บ้าง หมายถึงความสิ้นราคะ
ความสิ้นโทสะ และความสิ้นโมหะบ้าง (ดู สํ.ม. (แปล) 19/36/34) แต่ในที่นี้หมายถึงมรรค 4 และผล 4
(ม.มู.อ. 2/416/222)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :452 }