เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 8. มหาตัณหาสัขยสูตร

รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความ
สำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌา
และโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุนั้น
ประกอบด้วยอริยอินทรียสังวร ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนกับกิเลสในภายใน
ภิกษุนั้นทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู
การคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร การฉัน การดื่ม
การเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การหลับ
การตื่น การพูด การนิ่ง

การทำจิตให้บริสุทธิ์

[412] ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวรและอริยสติ-
สัมปชัญญะนี้แล้วพักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ
ป่าช้า ป่าทึบ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหาร
เสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละอภิชฌา (ความ
เพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น)ในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้
บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละพยาบาทและความมุ่งร้าย มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์
เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากพยาบาทและความมุ่งร้าย ละถีนมิทธะ
(ความหดหู่และเซื่องซึม) ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่างมีสติสัมปชัญญะอยู่
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและความรำคาญ
ใจ) เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ
ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย) ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่
ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :449 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 8. มหาตัณหาสัขยสูตร

[413] ภิกษุนั้นละนิวรณ์ 5 ประการนี้ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต
และเป็นเหตุทำปัญญาให้อ่อนกำลังได้แล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว
บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจาร
สงบระงับไป บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก
ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ1 บรรลุ
จตุตถฌาน ฯลฯ2อยู่

ความดับแห่งกองทุกข์

[414] ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้วไม่กำหนัดในรูปที่น่ารัก ไม่ขัดเคืองในรูป
ที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้3อยู่ ทราบชัดถึง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมตามความเป็นจริง
เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ตาม ทุกข์
ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้น เมื่อ
ภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนา
ทั้งหลายจึงดับไป เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ
ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสของภิกษุนั้นจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น
ย่อมมีได้อย่างนี้
ฟังเสียงทางหู ...
ดมกลิ่นทางจมูก ...
ลิ้มรสทางลิ้น ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ...

เชิงอรรถ :
1-2 ดูเนื้อความเต็มในข้อ 51 (ภยเภรวสูตร) หน้า 41 ในเล่มนี้
3 มีจิตหาประมาณมิได้ หมายถึงผู้มีโลกุตตรจิตหาประมาณมิได้ คือผู้พรั่งพร้อมด้วยมรรคจิต (ม.มู.อ.
2/414/219)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :450 }