เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 5. อนังคณสูตร

ชาณุสโสณิเป็นพุทธมามกะ

[56] ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า "ท่านพระโคดมได้อนุเคราะห์ชุมชน
ผู้เกิดในภายหลังนี้แล้ว เหมือนอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุเคราะห์ฉะนั้น
ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่าน
พระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรง
ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า 'คนมี
ตาดีจักเห็นรูปได้' ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และ
พระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต" ดังนี้แล

ภยเภรวสูตรที่ 4 จบ

5. อนังคณสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บุคคล 4 ประเภท

[57] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลาย
มากล่าวว่า "ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้
กล่าวเรื่องนี้ว่า
"ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคล 4 ประเภทนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล 4 ประเภท ไหนบ้าง คือ
1. บุคคลบางคนเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนิน1แต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง
ว่า 'เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน2'

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 5 ข้อ 52 (ภยเภรวสูตร) หน้า 41 ในเล่มนี้
2 ตน ในที่นี้หมายถึงจิตตสันดาน (ม.มู.อ. 1/57/151,65/169)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :44 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 5. อนังคณสูตร

2. บุคคลบางคนเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า
'เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน'
3. บุคคลบางคนเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินแต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง
ว่า 'เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน'
4. บุคคลบางคนเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตามความเป็นจริง
ว่า 'เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน'
บรรดาบุคคล 4 ประเภทนั้น บุคคลใดเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนินแต่ไม่รู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า 'เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน' บรรดาบุคคล 2 ประเภท
ที่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลนี้บัณฑิตกล่าวว่า 'เป็นบุรุษต่ำทราม'
บรรดาบุคคล 4 ประเภทนั้น บุคคลใดเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า 'เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน' บรรดาบุคคล 2 ประเภท
ที่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลนี้บัณฑิตกล่าวว่า 'เป็นบุรุษประเสริฐ'
บรรดาบุคคล 4 ประเภทนั้น บุคคลใดเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินแต่ไม่รู้ชัด
ตามความเป็นจริงว่า 'เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน' บรรดาบุคคล 2 ประเภท
ที่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลนี้บัณฑิตกล่าวว่า 'เป็นบุรุษต่ำทราม'
บรรดาบุคคล 4 ประเภทนั้น บุคคลใดเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินและรู้ชัดตาม
ความเป็นจริงว่า 'เราไม่มีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน' บรรดาบุคคล 2 ประเภท
ที่ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลนี้บัณฑิตกล่าวว่า 'เป็นบุรุษประเสริฐ'
[58] เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนั้นแล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้
ถามท่านพระสารีบุตรอย่างนี้ว่า "ท่านสารีบุตร อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่
บรรดาบุคคล 2 ประเภทผู้มีกิเลสเพียงดังเนินเหมือนกันนี้ บุคคลหนึ่งบัณฑิต
กล่าวว่า 'เป็นบุรุษต่ำทราม' แต่อีกบุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า 'เป็นบุรุษประเสริฐ'
และอะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่บรรดาบุคคล 2 ประเภทผู้ไม่มีกิเลสเพียงดัง
เนินเหมือนกันนี้ บุคคลหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า 'เป็นบุรุษต่ำทราม' แต่อีกบุคคลหนึ่ง
บัณฑิตกล่าวว่า 'เป็นบุรุษประเสริฐ"

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :45 }