เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 4. ภยเภรวสูตร

[54] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า 'นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา' เมื่อเรานั้นรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า 'หลุดพ้นแล้ว' รู้ชัดว่า 'ชาติ
สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว1 ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว2 ไม่มีกิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้อีกต่อไป'3 เราบรรลุวิชชาที่ 3 นี้ ในปัจฉิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชา
ได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคล
ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น
[55] พราหมณ์ บางคราวท่านอาจมีความคิดอย่างนี้ว่า 'แม้วันนี้ พระโคดม
ยังไม่เป็นผู้ปราศจากราคะ โทสะ และโมหะ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงเข้าอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ' ท่านไม่ควรเห็นอย่างนั้น เราเห็น
อำนาจประโยชน์ 2 ประการ คือ (1) การอยู่เป็นสุขในปัจจุบันของตน
(2) การอนุเคราะห์ชุมชนผู้เกิดในภายหลัง จึงเข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัด
คือป่าโปร่งและป่าทึบ"

เชิงอรรถ :
1 อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว หมายถึงกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อทำลายอาสวกิเลส จบสิ้นสมบูรณ์แล้ว ไม่มีกิจ
ที่จะต้องทำเพื่อตนเอง แต่ยังมีหน้าที่เพื่อผู้อื่นอยู่ ผู้บรรลุถึงขั้นนี้ได้ ชื่อว่า อเสขบุคคล (ม.มู.อ. 1/54/138,
ที.สี.อ. 1/248/203)
2 กิจที่ควรทำ ในที่นี้หมายถึงกิจในอริยสัจ 4 คือ การกำหนดรู้ทุกข์, การละเหตุเกิดแห่งทุกข์, การทำให้แจ้ง
ซึ่งความดับทุกข์ และการอบรมมรรคมีองค์ 8 ให้เจริญ (ม.มู.อ. 1/54/138, ที.สี.อ. 1/248/203)
3 ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป หมายถึงไม่มีหน้าที่ในการบำเพ็ญมรรคญาณเพื่อความหมดสิ้น
แห่งกิเลสอีกต่อไป เพราะพระพุทธศาสนาถือว่า การบรรลุพระอรหัตตผลเป็นจุดหมายสูงสุด (ม.มู.อ.
1/54/138, ที.สี.อ. 1/248/203)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :43 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 5. อนังคณสูตร

ชาณุสโสณิเป็นพุทธมามกะ

[56] ชาณุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า "ท่านพระโคดมได้อนุเคราะห์ชุมชน
ผู้เกิดในภายหลังนี้แล้ว เหมือนอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุเคราะห์ฉะนั้น
ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่าน
พระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านพระโคดมทรง
ประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า 'คนมี
ตาดีจักเห็นรูปได้' ข้าพระองค์นี้ขอถึงท่านพระโคดม พร้อมทั้งพระธรรม และ
พระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต" ดังนี้แล

ภยเภรวสูตรที่ 4 จบ

5. อนังคณสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
บุคคล 4 ประเภท

[57] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลาย
มากล่าวว่า "ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นรับคำแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงได้
กล่าวเรื่องนี้ว่า
"ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคล 4 ประเภทนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก
บุคคล 4 ประเภท ไหนบ้าง คือ
1. บุคคลบางคนเป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนิน1แต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง
ว่า 'เรามีกิเลสเพียงดังเนินภายในตน2'

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 5 ข้อ 52 (ภยเภรวสูตร) หน้า 41 ในเล่มนี้
2 ตน ในที่นี้หมายถึงจิตตสันดาน (ม.มู.อ. 1/57/151,65/169)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :44 }