เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 7. จูฬตัณหาสัขยสูตร

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่า
เป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด1 มีความเกษม
จากโยคะสูงสุด2 ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด3 มีที่สุดอันสูงสุด4 เป็นผู้ประเสริฐ
กว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า 'ธรรม
ทั้งปวง5ไม่ควรยึดมั่น' ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า 'ธรรมทั้งปวงไม่ควร
ยึดมั่น' ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้ว ย่อมกำหนดรู้
ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม เธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณา
เห็นความคลายกำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งใน
เวทนาทั้งหลายนั้นอยู่ เมื่อพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความคลาย
กำหนัด พิจารณาเห็นความดับ และพิจารณาเห็นความสลัดทิ้งในเวทนาทั้งหลาย
นั้นอยู่ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อ
ไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสได้เฉพาะตนและรู้ชัดว่า 'ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป6'

เชิงอรรถ :
1 มีความสำเร็จสูงสุด (อัจจันตนิฏฐะ) หมายถึงผ่านที่สุดกล่าวคือความสิ้นไปและเสื่อมไปเพราะไม่มีธรรม
เครื่องกำเริบอีก ได้แก่ ถึงพระนิพพาน (ม.มู.อ. 2/390/205, องฺ.เอกาทสก.อ. 3/10/383, ม.มู.ฏีกา
2/390/266)
2 มีความเกษมจากโยคะสูงสุด หมายถึงบรรลุธรรมที่สูงสุดอันปราศจากโยคะ 4 คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา
หมายถึงบรรลุพระนิพพาน ชื่อว่าผู้มีความปลอดโปร่งจากโยคกิเลส (ที.ปา. 11/312/205 องฺ.จตุกฺก.
(แปล) 21/10/12)
3 ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด หมายถึงอยู่จบพรหมจรรย์ แล้วมีสภาวะที่ไม่เสื่อมอีก (ม.มู.อ. 2/390/205,
ม.มู.ฏีกา 2/390/2066)
4 มีที่สุดอันสูงสุด หมายถึงมีที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่อยู่จบแล้ว (ม.มู.อ. 2/390/205, ม.มู.ฏีกา 2/390/266)
และดู องฺ.เอกาทสก. (แปล) 24/10/406
5 ธรรมทั้งปวง หมายถึงขันธ์ 5 อายตนะ 12 และธาตุ 18 เป็นธรรมที่ไม่ควรยึดมั่นด้วยอำนาจตัณหา
และทิฏฐิ เพราะเป็นภาวะไม่ดำรงอยู่โดยอาการที่บุคคลจะยึดถือได้ (ม.มู.อ. 2/390/205-206)
6 ดูเชิงอรรถที่ 1-3 ข้อ 54 (ภยเภรวสูตร) หน้า 43 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :421 }