เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 6. มหาสัจจกสูตร

[384] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน1 ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง
2 ชาติบ้าง ฯลฯ เราระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและ
ชีวประวัติอย่างนี้ เราได้บรรลุวิชชาที่ 1 นี้ ในปฐมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชา
ได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคล
ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้นก็
ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
[385] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง
งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ฯลฯ2 เราได้บรรลุวิชชาที่ 2 นี้ในมัชฌิมยามแห่งราตรี
กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น
เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิด
ขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
[386] เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้น
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า 'นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ
นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา' เมื่อเรารู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นจากกามาสวะ

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 5 ข้อ 52 (ภยเภรวสูตร) หน้า 41 ในเล่มนี้
2 ดูเนื้อความเต็มในข้อ 53 (ภยเภรวสูตร) หน้า 42 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :417 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 6. มหาสัจจกสูตร

ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า 'หลุดพ้นแล้ว' รู้ชัดว่า 'ชาติ
สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็น
อย่างนี้อีกต่อไป'
อัคคิเวสสนะ เราบรรลุวิชชาที่ 3 นี้ในปัจฉิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ว
วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ แม้สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของ
เราอยู่ไม่ได้

บุคคลผู้ไม่หลง

[387] อัคคิเวสสนะ เรารู้อยู่ว่า เมื่อเราแสดงธรรมแก่บริษัทหลายร้อยบริษัท
ถึงแม้บุคคลหนึ่ง ๆ จะเข้าใจเราอย่างนี้ว่า 'พระสมณโคดมแสดงธรรมปรารภเรา
เท่านั้น' ท่านอย่าพึงเห็นอย่างนั้น ตถาคตย่อมแสดงธรรมแก่บุคคลเหล่าอื่นโดยชอบ
เพื่อประโยชน์ให้รู้แจ้งอย่างเดียว และในตอนจบเรื่องหนึ่ง ๆ เราประคองจิตให้สงบ
ตั้งมั่น เป็นสมาธิ ณ ภายใน ดำรงอยู่ในสมาธินิมิตเบื้องต้นนั้นตลอดนิตยกาล"
"ข้อนี้ ควรเชื่อท่านพระโคดมผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ท่าน
พระโคดมทราบดีอยู่หรือว่า 'พระองค์เป็นผู้จำวัดในเวลากลางวัน"
"อัคคิเวสสนะ เรารู้อยู่ว่า 'ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน เรากลับจากบิณฑบาต
ภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ปูสังฆาฏิให้เป็น 4 ชั้น มีสติสัมปชัญญะ นอน
ตะแคงข้างเบื้องขวา"
"ท่านพระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวว่าการปฏิบัติแบบนั้น
เป็นการอยู่ด้วยความหลง"
"อัคคิเวสสนะ บุคคลเป็นผู้หลงหรือไม่หลงด้วยเหตุเพียงเท่านั้นหามิได้
บุคคลเป็นผู้หลงหรือเป็นผู้ไม่หลงด้วยเหตุใด ท่านจงฟังเหตุนั้น จงใส่ใจให้ดี เรา
จักกล่าว"
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :418 }