เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 6. มหาสัจจกสูตร

เราจึงมีความดำริว่า 'ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌานอันไม่มีลมปราณเถิด' เราก็
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู เมื่อเรา
กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็มีความ
กระวนกระวายในร่างกายอย่างแรงกล้า คนที่แข็งแรง 2 คนจับแขนคนที่อ่อนแอ
กว่าคนละข้างย่างให้ร้อนบนหลุมถ่านเพลิง แม้ฉันใด1 เมื่อเรากลั้นลมหายใจเข้า
และลมหายใจออกทั้งทางปาก ทางจมูก และทางช่องหู ก็มีความกระวนกระวายใน
ร่างกายอย่างแรงกล้า ฉันนั้นเหมือนกัน
เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อเราถูก
ความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของเราก็กระวนกระวาย ไม่สงบระงับ
แม้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ครอบงำจิตของเราอยู่ไม่ได้
เทวดาทั้งหลายเห็นเราแล้วก็พากันกล่าวอย่างนี้ว่า 'พระสมณโคดมสิ้นพระชนม์
แล้ว' บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า 'พระสมณโคดมยังมิได้สิ้นพระชนม์ แต่กำลังจะสิ้น
พระชนม์' บางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า 'พระสมณโคดมยังไม่สิ้นพระชนม์ ทั้งจะไม่สิ้น
พระชนม์ พระสมณโคดมจะเป็นพระอรหันต์ การอยู่เช่นนี้นั้นเป็นวิหารธรรม2 ของ
ท่านผู้เป็นพระอรหันต์'
[379] อัคคิเวสสนะ เราจึงมีความดำริว่า 'ทางที่ดี เราควรปฏิบัติด้วย
การอดอาหารทุกอย่าง' ขณะนั้น เทวดาทั้งหลายเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า 'ข้าแต่
ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านอย่าได้ปฏิบัติด้วยการอดอาหารทุกอย่าง ถ้าท่านจักปฏิบัติด้วย
การอดอาหารทุกอย่าง ข้าพเจ้าทั้งหลายจะแทรกโอชาอันเป็นทิพย์เข้าทางขุมขนของท่าน
ท่านจะได้ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชานั้น' เราจึงมีความดำริว่า 'เราปฏิญญาว่า
จะต้องอดอาหารทุกอย่าง แต่เทวดาเหล่านี้จะแทรกโอชาอันเป็นทิพย์เข้าทางขุมขน
ของเรา เราจะยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยโอชานั้น การปฏิญญานั้นก็จะพึงเป็นมุสาแก่เรา'
เราจึงกล่าวห้ามเทวดาเหล่านั้นว่า 'อย่าเลย'

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ สํ.สฬา. (แปล) 18/87/81
2 วิหารธรรม ในที่นี้หมายถึงสมาบัติ 8 กล่าวคือ รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4 อันเป็นโลกิยะ (ดูประกอบ
ใน องฺ.นวก. (แปล) 23/41/360-368)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :414 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 6. มหาสัจจกสูตร

[380] อัคคิเวสสนะ เรามีความดำริว่า 'ทางที่ดี เราควรกินอาหารให้
น้อยลง ๆ เพียงครั้งละ 1 ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อใน
เมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง' เราจึงกินอาหาร
น้อยลง ๆ เพียงครั้งละ 1 ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อใน
เมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง เมื่อเรากินอาหาร
ให้น้อยลง ๆ เพียงครั้งละ 1 ฟายมือบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อ
ในเมล็ดถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง' กายก็ซูบผอมมาก
อวัยวะน้อยใหญ่ของเราจึงเป็นเหมือนเถาวัลย์ที่มีข้อมากหรือเถาวัลย์ที่มีข้อดำ เนื้อ
สะโพกก็ลีบเหมือนกีบเท้าอูฐ กระดูกสันหลังก็ผุดเป็นหนามเหมือนเถาวัลย์ ซี่โครง
ทั้ง 2 ข้างขึ้นสะพรั่ง เหมือนกลอนศาลาเก่า ดวงตาทั้ง 2 ข้างก็ลึกเข้าไปในเบ้าตา
เหมือนดวงดาวปรากฏอยู่ในบ่อน้ำลึก หนังบนศีรษะก็เหี่ยวหดเหมือนลูกน้ำเต้าที่
เขาตัดมาขณะยังดิบต้องลมและแดดเข้าก็เหี่ยวหดไป เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อยนั้น
เราคิดว่า 'จะลูบพื้นท้อง' ก็จับถึงกระดูกสันหลัง คิดว่า 'จะลูบกระดูกสันหลัง' ก็จับ
ถึงพื้นท้อง เพราะพื้นท้องของเราแนบติดจนถึงกระดูกสันหลัง เราคิดว่า 'จะถ่าย
อุจจาระหรือถ่ายปัสสาวะ' ก็ซวนเซล้มลง ณ ที่นั้น เมื่อจะให้กายสบายบ้าง จึงใช้
ฝ่ามือลูบตัว ขนทั้งหลายที่มีรากเน่าก็หลุดร่วงจากกาย เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อย
มนุษย์ทั้งหลายเห็นเราแล้ว ก็กล่าวอย่างนี้ว่า 'พระสมณโคดมดำไป' บางพวกก็
กล่าวอย่างนี้ว่า 'พระสมณโคดมไม่ดำเพียงแต่คล้ำไป' บางพวกก็กล่าวว่า 'ไม่ดำ
ไม่คล้ำ เพียงแต่พร้อยไป' เรามีผิวพรรณบริสุทธิ์ เปล่งปลั่ง เพียงแต่เสียผิวไป
เพราะเป็นผู้มีอาหารน้อยเท่านั้น
[381] อัคคิเวสสนะ เรานั้นมีความดำริว่า 'สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งในอดีตเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะความ
เพียร ทุกขเวทนานั้นอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่ง ในอนาคตเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้นเพราะ
ความเพียร ทุกขเวทนานั้นอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป สมณะหรือพราหมณ์
เหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันเสวยทุกขเวทนากล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ที่เกิดขึ้น
เพราะความเพียร ทุกขเวทนานั้นอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ไม่เกินกว่านี้ไป แต่เราก็ยัง
มิได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐอันสามารถ วิเศษยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วย
ทุกกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ จะพึงมีทางอื่นที่จะตรัสรู้บ้างไหม'

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :415 }