เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 4. ภยเภรวสูตร

สัตว์ผู้ไม่ลุ่มหลง

[50] พราหมณ์ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งเข้าใจกลางคืนแท้ ๆ ว่าเป็น
กลางวัน เข้าใจกลางวันแท้ ๆ ว่าเป็นกลางคืน เรากล่าวการมีความเข้าใจเช่นนี้
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านั้นอยู่ด้วยความหลง ส่วนเราเข้าใจกลางคืนแท้ ๆ ว่าเป็น
กลางคืน เข้าใจกลางวันแท้ ๆ ว่าเป็นกลางวัน บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้องควร
กล่าวกับเราว่า 'สัตว์ผู้ไม่มีความหลงได้อุบัติแล้วในโลก เพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก
เพื่อความสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล
เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย'
[51] พราหมณ์ เราปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน สติก็มั่นคงไม่ฟั่นเฟือน
กายสงบระงับไม่กระสับกระส่าย จิตเป็นสมาธิมีอารมณ์แน่วแน่ เรานั้นสงัดจากกาม
และอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจาก
วิเวกอยู่1 เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะ
ที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่2
เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุ
ตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า 'ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข'3 เพราะ
ละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มี
ทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่4

วิชชา 3

[52] เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน5 ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นจึง
น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง

เชิงอรรถ :
1-4 ที.สี.(แปล) 9/413/178
5 กิเลสเพียงดังเนิน (อังคณะ) หมายถึงกิเลสเพียงดังเนินคือราคะ โทสะ โมหะ มลทิน หรือเปือกตม ในที่
บางแห่ง หมายถึงพื้นที่เป็นเนินตามที่พูดกันว่า เนินโพธิ์ เนินเจดีย์ เป็นต้น แต่ในที่นี้ ท่านพระสารีบุตร
ประสงค์เอากิเลสอย่างเผ็ดร้อนนานัปการว่า กิเลสเพียงดังเนิน (ม.มู.อ. 1/57/151)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :41 }