เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 6. มหาสัจจกสูตร

[370] สัจจกะ นิครนถบุตรกราบทูลว่า "เมื่อเป็นอย่างนี้ ข้าพเจ้าเลื่อมใส
ท่านพระสมณโคดม เพราะท่านพระสมณโคดมได้อบรมกายแล้ว ได้อบรมจิตแล้ว"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "อัคคิเวสสนะ ท่านนำวาจานี้มาพูดกระทบกระ
เทียบกับเราโดยแท้ แต่เราจะบอกแก่ท่าน เมื่อใดเราโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ ออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จิตของเรา
นั้นจะถูกสุขเวทนาที่เกิดขึ้นครอบงำอยู่ หรือจะถูกทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นครอบงำอยู่"
สัจจกะ นิครนถบุตรกราบทูลว่า "สุขเวทนาที่เกิดขึ้นซึ่งพอจะครอบงำจิตตั้ง
อยู่ หรือทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นซึ่งพอจะครอบงำจิตตั้งอยู่ ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่พระสมณ-
โคดมผู้เจริญโดยแท้"
[371] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "อัคคิเวสสนะ ทำไมเวทนาทั้ง 2 นั้นจะ
ไม่พึงมีแก่เรา เราจะเล่าให้ฟัง ก่อนการตรัสรู้ เมื่อเราเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้
ได้มีความคิดว่า 'การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด1 เป็นทางแห่งธุลี2 การบวช
เป็นทางปลอดโปร่ง3 การที่ผู้อยู่ครองเรือน จะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์
ให้บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากวังบวชเป็นบรรพชิตเถิด'

เชิงอรรถ :
1 การอยู่ครองเรือนชื่อว่าเป็นเรื่องอึดอัด เพราะไม่มีเวลาว่างเพื่อจะทำกุศลกรรม แม้เรือนจะมีเนื้อที่
กว้างขวางถึง 60 ศอก มีบริเวณภายในบ้านตั้ง 100 โยชน์ มีคนอยู่อาศัยเพียง 2 คน คือ สามี
ภรรยา ก็ยังถือว่าอึดอัด เพราะมีความห่วงกังวลกันและกัน (ที.สี.อ. 191/163)
2 ชื่อว่าเป็นทางแห่งธุลี เพราะเป็นที่เกิดและเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอันทำจิตให้เศร้าหมอง เช่น ราคะ เป็นต้น
(ที.สี.อ. 191/163)
3 นักบวชแม้จะอยู่ในเรือนยอด ปราสาทแก้วและเทพวิมาน ซึ่งมีประตูหน้าต่างมิดชิด ก็ยังถือว่าปลอดโปร่ง
เพราะนักบวชไม่มีความยึดติดในสิ่งใด ๆ เลย (ที.สี.อ. 191/163)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :405 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 6. มหาสัจจกสูตร

พุทธประวัติตอนบำเพ็ญสมาบัติ
ในสำนักอาฬารดาบส

อัคคิเวสสนะ ในกาลต่อมา เรายังหนุ่มแน่น แข็งแรง มีเกศาดำสนิท
อยู่ในปฐมวัย เมื่อพระราชมารดาและพระราชบิดาไม่ทรงปรารถนาจะให้ผนวช มี
พระพักตร์นองด้วยน้ำพระเนตรทรงกันแสงอยู่ จึงโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้า
กาสาวพัสตร์ ออกจากวังผนวชเป็นบรรพชิต เมื่อผนวชแล้วก็แสวงหาว่าอะไรเป็น
กุศล ขณะที่แสวงหาทางอันประเสริฐคือความสงบซึ่งไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า ได้เข้าไปหา
อาฬารดาบส กาลามโคตร แล้วกล่าวว่า
'ท่านกาลามะ ข้าพเจ้าปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้'
เมื่อเรากล่าวอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงกล่าวกับเราว่า 'เชิญท่าน
อยู่ก่อน ธรรมนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมที่วิญญูชนจะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง
เอง ตามแบบอาจารย์ของตนเข้าถึงอยู่ได้ในเวลาไม่นาน' จากนั้นไม่นาน เราก็เรียนรู้
ธรรมนั้นได้อย่างรวดเร็ว ชั่วขณะปิดปากจบเจรจาปราศรัยเท่านั้น ก็กล่าวญาณ-
วาทะ1และเถรวาทะ2ได้ ทั้งเราและผู้อื่นก็ทราบชัดว่า 'เรารู้ เราเห็น' เราจึงคิดว่า
'อาฬารดาบส กาลามโคตรประกาศธรรมนี้ด้วยเหตุเพียงความเชื่ออย่างเดียวว่า 'เรา
ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่' ก็หามิได้ แต่อาฬารดาบส กาลามโคตร
ยังรู้ยังเห็นธรรมนี้ด้วยอย่างแน่นอน'
จากนั้น เราจึงเข้าไปหาอาฬารดาบส กาลามโคตรแล้วถามว่า 'ท่านกาลามะ
ท่านประกาศธรรมนี้ว่า 'ข้าพเจ้าทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่' ด้วยเหตุ
เพียงเท่าไร'
เมื่อเราถามอย่างนี้ อาฬารดาบส กาลามโคตรจึงประกาศอากิญจัญญายตน-
สมาบัติแก่เรา เราจึงคิดว่า 'มิใช่แต่อาฬารดาบส กาลามโคตรเท่านั้นที่มีศรัทธา

เชิงอรรถ :
1-2 ดูเชิงอรรถที่ 2-3 ข้อ 277 (ปาสราสิสูตร) หน้า 300 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :406 }