เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 5. จูฬสัจจกสูตร

พระดำรัสของท่านพระโคดมว่า 'ตนสามารถรุกรานได้ด้วยถ้อยคำของตน' ขอท่าน
พระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงรับนิมนต์เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้เถิด"
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
[363] ลำดับนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรง
รับนิมนต์แล้ว จึงบอกพวกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นว่า "เจ้าลิจฉวีทั้งหลายโปรดฟังข้าพเจ้า
ข้าพเจ้านิมนต์ท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไว้แล้วเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น พวกท่าน
จะนำอาหารใดมาเพื่อข้าพเจ้า จงเลือกอาหารที่ควรแก่ท่านพระโคดมเถิด"
เมื่อล่วงราตรีแล้ว เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นได้นำภัตตาหารประมาณ 500 สำรับ
ไปให้แก่สัจจกะ นิครนถบุตร เขาจึงให้จัดของเคี้ยวของฉันอันประณีต ในอาราม
ของตนเสร็จแล้วจึงให้ทูลบอกเวลาแด่พระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
เวลานี้เป็นเวลาอันควร ภัตตาหารจัดเตรียมสำเร็จแล้ว"
ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทรงครองอันตรวาสกถือ
บาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังอารามของสัจจกะ นิครนถบุตร แล้วประทับนั่งบน
พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว จากนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรได้นำของขบฉันอันประณีต
ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้อิ่มหนำด้วยมือตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาค
เสวยเสร็จ ทรงวางพระหัตถ์จากบาตรแล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรจึงเลือกนั่ง ณ ที่
สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่าแล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ขอบุญและ
ผลบุญในทานครั้งนี้ จงมีเพื่อความสุขแก่ทายกทั้งหลายเถิด"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "อัคคิเวสสนะ บุญและผลบุญในทานนี้อาศัย
ทักขิไณยบุคคลที่ยังไม่สิ้นราคะ โทสะ โมหะเช่นกับท่าน จักมีแก่ทายกทั้งหลาย
บุญและผลบุญในทานนี้อาศัยทักขิไณยบุคคลที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะเช่นกับเรา
จักมีแก่ท่าน"

จูฬสัจจกสูตรที่ 5 จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 6. มหาสัจจกสูตร

6. มหาสัจจกสูตร
ว่าด้วยสัจจกะ นิครนถบุตร สูตรใหญ่

[364] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตกรุง
เวสาลี ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตร
และจีวร มีพระพุทธประสงค์จะเสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงเวสาลี ขณะนั้น
สัจจกะ นิครนถบุตร เดินเที่ยวเล่นอยู่ ได้เข้าไปที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน
ท่านพระอานนท์ได้เห็นสัจจกะ นิครนถบุตรเดินมาแต่ไกล จึงกราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สัจจกะ นิครนถบุตรนี้เป็นนักโต้วาทะ พูดยกตน
ว่าเป็นบัณฑิต ชนจำนวนมากยอมยกว่าเป็นผู้มีลัทธิดี เขาปรารถนาจะติเตียน
พระพุทธเจ้า ปรารถนาจะติเตียนพระธรรม และปรารถนาจะติเตียนพระสงฆ์ ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคประทับนั่งสักครู่หนึ่งเถิด"
พระผู้มีพระภาคจึงประทับอยู่บนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว
ขณะนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรเข้าไปถึงที่ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้ว
ทูลสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ปัญหาของสัจจกะ นิครนถบุตร

[365] "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งหมั่นประกอบ
กายภาวนา1อยู่ แต่หาได้หมั่นประกอบจิตตภาวนา2ไม่ สมณพราหมณ์พวกนั้น

เชิงอรรถ :
1 กายภาวนา หมายถึงวิปัสสนาภาวนา (ภาวนาข้อที่ 2 ในภาวนา 2) คือการฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความ
รู้แจ้งตามความเป็นจริง แต่สัจจกะ นิครนถบุตรกล่าวหมายเอาอัตตกิลมถานุโยคของพวกนิครนถ์ (ม.มู.อ.
2/365/192)
2 จิตตภาวนา หมายถึงสมถภาวนา (ภาวนาข้อที่ 1 ในภาวนา 2) คือการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ
(ฝึกสมาธิ) (ม.มู.อ. 2/365/192) และดู ที.ปา. 11/352/242, องฺ.ทุก. (แปล) 20/32/76, องฺ.ปญฺจก.
(แปล) 22/79/144

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :401 }