เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 5. จูฬสัจจกสูตร

... เห็นวิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ตามความ
เป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า 'นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา
ของเรา' จึงหลุดพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็น
อรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระได้แล้ว
บรรลุประโยชน์ตนโดยลำดับแล้ว สิ้นภวสังโยชน์แล้ว หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ
ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ประกอบด้วยคุณอันยอดเยี่ยม 3 ประการ คือ
1. ความเห็นอันยอดเยี่ยม
2. ข้อปฏิบัติอันยอดเยี่ยม
3. ความหลุดพ้นอันยอดเยี่ยม
เมื่อมีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตว่า
'พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้ว1 ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ตรัสรู้ พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นทรงฝึกพระองค์แล้ว2 ทรงแสดงธรรมเพื่อฝึกตน พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้นทรงสงบแล้ว3 ทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบ พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นทรงข้ามพ้นแล้ว4 ทรงแสดงธรรมเพื่อให้ข้ามพ้น พระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้นปรินิพพานแล้ว ทรงแสดงธรรมเพื่อปรินิพพาน"

สัจจกะ นิครนถบุตรถวายภัตตาหาร

[362] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรได้กราบ
ทูลว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นคนคอยกำจัดคุณผู้อื่น เป็นคนคะนอง
วาจา ได้เข้าใจพระดำรัสของท่านพระโคดมว่า 'ตนสามารถรุกรานได้ด้วยถ้อยคำ
ของตน' บุรุษมาปะทะช้างซับมันเข้าก็ดี พบกองไฟที่กำลังลุกโชนก็ดี พบงูพิษที่มี
พิษร้ายก็ดี ยังพอเอาตัวรอดได้บ้าง แต่พอมาพบท่านพระโคดมเข้าแล้ว ไม่มีใคร
เอาตัวรอดได้เลย ข้าพเจ้าเป็นคนคอยกำจัดคุณผู้อื่น เป็นคนคะนองวาจา ได้เข้าใจ

เชิงอรรถ :
1 ตรัสรู้ หมายถึงตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการ (ม.มู.อ. 2/361/189)
2 ฝึกพระองค์ หมายถึงปราศจากกิเลส (ม.มู.อ. 2/361/189, ม.มู.ฏีกา 2/361/255)
3 สงบ หมายถึงสงบระงับกิเลสทั้งปวงได้ (ม.มู.อ. 2/361/189)
4 ข้ามพ้น หมายถึงข้ามพ้นโอฆะ 4 (ม.มู.อ. 2/361/189)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :399 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 5. จูฬสัจจกสูตร

พระดำรัสของท่านพระโคดมว่า 'ตนสามารถรุกรานได้ด้วยถ้อยคำของตน' ขอท่าน
พระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงรับนิมนต์เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้เถิด"
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
[363] ลำดับนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรทราบอาการที่พระผู้มีพระภาคทรง
รับนิมนต์แล้ว จึงบอกพวกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นว่า "เจ้าลิจฉวีทั้งหลายโปรดฟังข้าพเจ้า
ข้าพเจ้านิมนต์ท่านพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ไว้แล้วเพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น พวกท่าน
จะนำอาหารใดมาเพื่อข้าพเจ้า จงเลือกอาหารที่ควรแก่ท่านพระโคดมเถิด"
เมื่อล่วงราตรีแล้ว เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นได้นำภัตตาหารประมาณ 500 สำรับ
ไปให้แก่สัจจกะ นิครนถบุตร เขาจึงให้จัดของเคี้ยวของฉันอันประณีต ในอาราม
ของตนเสร็จแล้วจึงให้ทูลบอกเวลาแด่พระผู้มีพระภาคว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
เวลานี้เป็นเวลาอันควร ภัตตาหารจัดเตรียมสำเร็จแล้ว"
ครั้นในเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทรงครองอันตรวาสกถือ
บาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังอารามของสัจจกะ นิครนถบุตร แล้วประทับนั่งบน
พุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว จากนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรได้นำของขบฉันอันประณีต
ประเคนภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้อิ่มหนำด้วยมือตนเอง เมื่อพระผู้มีพระภาค
เสวยเสร็จ ทรงวางพระหัตถ์จากบาตรแล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรจึงเลือกนั่ง ณ ที่
สมควรที่ใดที่หนึ่งซึ่งต่ำกว่าแล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ขอบุญและ
ผลบุญในทานครั้งนี้ จงมีเพื่อความสุขแก่ทายกทั้งหลายเถิด"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "อัคคิเวสสนะ บุญและผลบุญในทานนี้อาศัย
ทักขิไณยบุคคลที่ยังไม่สิ้นราคะ โทสะ โมหะเช่นกับท่าน จักมีแก่ทายกทั้งหลาย
บุญและผลบุญในทานนี้อาศัยทักขิไณยบุคคลที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะเช่นกับเรา
จักมีแก่ท่าน"

จูฬสัจจกสูตรที่ 5 จบ