เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 5. จูฬสัจจกสูตร

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรก็นิ่งเป็นครั้งที่ 2
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับสัจจกะ นิครนถบุตรว่า "อัคคิเวสสนะ บัดนี้
ท่านจงตอบ ไม่ใช่เวลาที่ท่านจะนิ่ง ผู้ใดถูกตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุถึง 3
ครั้งแล้วไม่ตอบ ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็น 7 เสี่ยงในที่นั้นนั่นเอง"
ขณะนั้น ยักษ์วชิรปาณี1ถือกระบองเพชรมีไฟลุกโชติช่วงยืนอยู่ในอากาศ
เบื้องบนสัจจกะ นิครนถบุตรคิดว่า
"หากสัจจกะ นิครนถบุตรนี้ถูกพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหาอันชอบธรรม
ถึง 3 ครั้งแต่ไม่ยอมตอบ เราจะทุบศีรษะของเขาให้แตกเป็น 7 เสี่ยง ณ ที่นี้แล"
พระผู้มีพระภาคกับสัจจกะ นิครนถบุตรเท่านั้นที่มองเห็นยักษ์วชิรปาณีนั้น
ในทันใดนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรตกใจกลัวจนขนพองสยองเกล้า แสวงหาพระผู้มี
พระภาคเป็นที่ต้านทาน เป็นที่ป้องกัน เป็นที่พึ่ง ได้กราบทูลว่า "พระโคดมผู้เจริญ
ขอจงทรงถามเถิด ข้าพเจ้าจะตอบ ณ บัดนี้"

หลักไตรลักษณ์

[358] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า "อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้น
ว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า 'รูปเป็นอัตตาของเรา' ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า
'รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ"
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลตอบว่า "ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ"
"ท่านจงมนสิการ2เถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า 'เวทนาเป็นอัตตาของเรา' ท่านมีอำนาจในเวทนานั้นว่า
'เวทนาของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ"

เชิงอรรถ :
1 ยักษ์วชิรปาณี ในที่นี้หมายถึงท้าวสักกเทวราช (ม.มู.อ. 2/357/185)
2 มนสิการ ในที่นี้หมายถึงการพิจารณาไตร่ตรองแล้วทรงจำไว้ในใจ (ม.มู.อ. 2/358/186)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :394 }