เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 5. จูฬสัจจกสูตร

ทรงย้อนถามสัจจกะ นิครนถบุตรด้วยอุปมา

[357] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "อัคคิเวสสนะ ถ้าอย่างนั้น เราจักสอบ
ถามท่านในข้อนี้แล ท่านเห็นควรอย่างไร ท่านควรตอบอย่างนั้น ท่านเข้าใจความ
ข้อนั้นว่าอย่างไร พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษก1แล้ว เช่นพระเจ้าปเสนทิ-
โกศล หรือพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตรแห่งแคว้นมคธ มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า
ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ ในพระราชอาณาเขตของพระองค์
มิใช่หรือ"
สัจจกะ นิครนถบุตรกราบทูลว่า "ท่านพระโคดม พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้
รับมูรธาภิเษกแล้ว เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตรแห่ง
แคว้นมคธ มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควร
เนรเทศ ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ แม้แต่คณะผู้ปกครองเหล่านี้ คือ เจ้าวัชชี
เจ้ามัลละก็มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า ริบสมบัติคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ
ในพระราชอาณาเขตของพระองค์ ทำไมพระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
เช่นพระเจ้าปเสนทิโกศลหรือพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตรแห่งแคว้นมคธจะไม่มี
อำนาจเล่า พระราชามหากษัตริย์ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วนั้น ต้องมีอำนาจแน่ และ
ควรจะมีอำนาจ"
"อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า
'รูปเป็นอัตตาของเรา' นั้น ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า 'รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด
อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ"
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรก็นิ่งเสีย
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับสัจจกะ นิครนถบุตรเป็นครั้งที่ 2 ว่า "อัคคิเวสสนะ
ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวว่า 'รูปเป็นอัตตาของเรา' นั้น
ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า 'รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย' หรือ"

เชิงอรรถ :
1 มูรธาภิเษก ในที่นี้หมายถึงพิธีหลั่งน้ำรดพระเศียรในการพระราชพิธีราชาภิเษก (พจนานุกรม
ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 หน้า 654)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :393 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 5. จูฬสัจจกสูตร

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว สัจจกะ นิครนถบุตรก็นิ่งเป็นครั้งที่ 2
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับสัจจกะ นิครนถบุตรว่า "อัคคิเวสสนะ บัดนี้
ท่านจงตอบ ไม่ใช่เวลาที่ท่านจะนิ่ง ผู้ใดถูกตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุถึง 3
ครั้งแล้วไม่ตอบ ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็น 7 เสี่ยงในที่นั้นนั่นเอง"
ขณะนั้น ยักษ์วชิรปาณี1ถือกระบองเพชรมีไฟลุกโชติช่วงยืนอยู่ในอากาศ
เบื้องบนสัจจกะ นิครนถบุตรคิดว่า
"หากสัจจกะ นิครนถบุตรนี้ถูกพระผู้มีพระภาคตรัสถามปัญหาอันชอบธรรม
ถึง 3 ครั้งแต่ไม่ยอมตอบ เราจะทุบศีรษะของเขาให้แตกเป็น 7 เสี่ยง ณ ที่นี้แล"
พระผู้มีพระภาคกับสัจจกะ นิครนถบุตรเท่านั้นที่มองเห็นยักษ์วชิรปาณีนั้น
ในทันใดนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรตกใจกลัวจนขนพองสยองเกล้า แสวงหาพระผู้มี
พระภาคเป็นที่ต้านทาน เป็นที่ป้องกัน เป็นที่พึ่ง ได้กราบทูลว่า "พระโคดมผู้เจริญ
ขอจงทรงถามเถิด ข้าพเจ้าจะตอบ ณ บัดนี้"

หลักไตรลักษณ์

[358] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า "อัคคิเวสสนะ ท่านเข้าใจความข้อนั้น
ว่าอย่างไร ข้อที่ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า 'รูปเป็นอัตตาของเรา' ท่านมีอำนาจในรูปนั้นว่า
'รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ"
สัจจกะ นิครนถบุตรทูลตอบว่า "ข้อนี้มิได้เป็นดังนั้น พระโคดมผู้เจริญ"
"ท่านจงมนสิการ2เถิด ครั้นมนสิการแล้วจึงตอบ เพราะคำหลังกับคำก่อน
หรือคำก่อนกับคำหลังของท่านไม่ตรงกัน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ข้อที่
ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า 'เวทนาเป็นอัตตาของเรา' ท่านมีอำนาจในเวทนานั้นว่า
'เวทนาของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ"

เชิงอรรถ :
1 ยักษ์วชิรปาณี ในที่นี้หมายถึงท้าวสักกเทวราช (ม.มู.อ. 2/357/185)
2 มนสิการ ในที่นี้หมายถึงการพิจารณาไตร่ตรองแล้วทรงจำไว้ในใจ (ม.มู.อ. 2/358/186)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :394 }