เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 4. ภยเภรวสูตร

พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้ปรารภความเพียรนั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (13)
[46] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า 'สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งขาดสติสัมปชัญญะ(ความระลึกได้และความรู้ตัว) เข้าอาศัยเสนาสนะ
อันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบ
ความกลัวและความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นผู้
ขาดสติสัมปชัญญะ ส่วนเรามิใช่เป็นผู้ขาดสติสัมปชัญญะ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบ
สงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้มีสติมั่นคง พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้มีสติมั่นคง
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระ
อริยะเหล่านั้น'
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้มีสติมั่นคงนั้นในตน จึงถึงความเป็นผู้
ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (14)
[47] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า 'สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งมีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตดิ้นรนกวัดแกว่ง เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือ
ป่าโปร่งและป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัว
และความขลาดอันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นผู้มีจิตไม่ตั้ง
มั่นและมีจิตดิ้นรนกวัดแกว่ง ส่วนเรามิใช่เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตไม่ดิ้นรนกวัดแกว่ง
เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ
พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือ
ป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะเหล่านั้น'
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธินั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (15)
[48] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า 'สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เหล่าหนึ่งเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและ
ป่าทึบ สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ย่อมประสบความกลัวและความขลาด
อันเป็นอกุศล เพราะเหตุแห่งโทษของตนคือความเป็นคนโง่เขลาเบาปัญญา ส่วนเรา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :39 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [1. มูลปริยายวรรค] 4. ภยเภรวสูตร

มิใช่เป็นผู้โง่เขลาเบาปัญญา เข้าอาศัยเสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ
เราเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา พระอริยะเหล่าใดเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา เข้าอาศัย
เสนาสนะอันเงียบสงัดคือป่าโปร่งและป่าทึบ เราเป็นผู้หนึ่งในบรรดาพระอริยะ
เหล่านั้น'
พราหมณ์ เราเห็นชัดซึ่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญานั้นในตน จึงถึงความ
เป็นผู้ปลอดภัยอย่างยิ่งเพื่ออยู่ในป่า (16)

เหตุสะดุ้งกลัวการอยู่ในเสนาสนะป่า 16 ประการ จบ

[49] พราหมณ์ เรานั้นได้มีความดำริว่า 'ทางที่ดี เราควรอยู่ในเสนาสนะ
เช่นนี้ คือ อารามเจดีย์ วนเจดีย์ รุกขเจดีย์1อันน่าสะพรึงกลัว น่าขนพองสยองเกล้า
ในราตรีที่กำหนดรู้กันว่าวัน 14 ค่ำ 15 ค่ำ และ 8 ค่ำ แห่งปักษ์ ด้วยหวังว่า
'เราจะได้เห็นความน่ากลัวและความขลาด' ต่อมา เราได้อยู่ในเสนาสนะและราตรี
ดังกล่าวแล้วนั้น เมื่อเราอยู่ในเสนาสนะนั้น สัตว์ป่ามา นกยูงทำไม้ให้ตกลงมา
หรือลมพัดเศษใบไม้ให้ตกลงมา เรานั้นได้มีความดำริว่า 'ความกลัวและความขลาด
นี้นั้นย่อมเกิดขึ้นแน่นอน' เรานั้นได้มีความดำริว่า 'เพราะเหตุไร เราจึงหวังเฉพาะ
แต่เรื่องความกลัวอยู่อย่างเดียว ทางที่ดี เราควรจะกำจัดความกลัวและความขลาด
ที่เกิดขึ้นแก่เราในอิริยาบถที่เราเป็นอยู่นั้น ๆ เสีย' เมื่อเรากำลังจงกรมอยู่ ความกลัว
และความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่ยืน ไม่นั่ง ไม่นอน จะจงกรมอยู่ จนกว่า
จะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้ เมื่อเรายืนอยู่ ความกลัวและความขลาด
เกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่จงกรม ไม่นั่ง ไม่นอน จะยืนอยู่จนกว่าจะกำจัดความกลัว
และความขลาดนั้นได้ เมื่อเรานั่งอยู่ ความกลัวและความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะ
ไม่นอน ไม่ยืน ไม่จงกรม จะนั่งอยู่ จนกว่าจะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้
เมื่อเรานอนอยู่ ความกลัวและความขลาดเกิดขึ้นแก่เรา เราจะไม่นั่ง ไม่ยืน ไม่จงกรม
จะนอนอยู่จนกว่าจะกำจัดความกลัวและความขลาดนั้นได้

เชิงอรรถ :
1 อารามเจดีย์ หมายถึงสถานที่ที่งดงามด้วยไม้ดอกและไม้ผล ที่เรียกว่า เจดีย์ เพราะเป็นสถานที่กระทำให้
วิจิตร ทำให้น่าบูชา วนเจดีย์ หมายถึงชายป่าที่ต้องนำเครื่องพลีกรรมไปสังเวย ป่าสุภควันและป่าที่ตั้งศาล
เป็นที่สถิตของเทวดาเป็นต้น รุกขเจดีย์ หมายถึงต้นไม้ใหญ่ที่คนเคารพบูชาใกล้ปากทางเข้าหมู่บ้าน
หรือนิคมเป็นต้น โดยเข้าใจว่าเป็นที่อยู่ของเทวดาผู้มีฤทธิ์ (ม.มู.อ. 1/49/129)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :40 }