เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 5. จูฬสัจจกสูตร

"โลกนี้และโลกหน้าตถาคตผู้รู้ได้ประกาศไว้ดีแล้ว
ตถาคตผู้ตรัสรู้เอง ทราบชัดโลกทั้งปวงทั้งที่มารไปถึงได้
และที่มัจจุราชไปถึงไม่ได้ ด้วยความรู้ยิ่ง
จึงได้เปิดประตูแห่งอมตะ1
เพื่อให้ถึงนิพพานอันเป็นแดนเกษม
กระแสแห่งมารผู้มีใจบาปตถาคตตัดได้แล้ว
กำจัดได้แล้ว กำราบได้แล้ว
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มากด้วยความปราโมทย์
ปรารถนาธรรมอันเป็นแดนเกษม2เถิด"

จูฬโคปาลสูตรที่ 4 จบ

5. จูฬสัจจกสูตร
ว่าด้วยสัจจกะ นิครนถบุตร สูตรเล็ก
อนุสาสนีของพระพุทธเจ้า

[353] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี
ในสมัยนั้น สัจจกะ นิครนถบุตรอาศัยอยู่ในกรุงเวสาลี เป็นนักโต้วาทะ พูดยกตน
ว่าเป็นบัณฑิต ชนจำนวนมากยกย่องว่าเป็นผู้มีลัทธิดี เขากล่าวปราศรัยในที่ชุมชน
ในกรุงเวสาลีอย่างนี้ว่า

เชิงอรรถ :
1 ประตูแห่งอมตะ หมายถึงอริยมรรค (ม.มู.อ. 2/352/175)
2 ธรรมอันเป็นแดนเกษม หมายถึงอรหัตตผล (ม.มู.อ. 2/352/175)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :388 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 5. จูฬสัจจกสูตร

"สมณะหรือพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์ ผู้ปฏิญญาตน
ว่าเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อโต้ตอบวาทะกับเรา แล้วจะไม่พึงประหม่า
ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้ เราไม่เห็นเลยแม้แต่คนเดียว
หากเราโต้ตอบวาทะกับต้นเสาที่ไม่มีจิตใจ แม้ต้นเสานั้นโต้ตอบวาทะกับเรา ก็ต้อง
ประหม่า สะทกสะท้าน หวั่นไหว ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงมนุษย์เลย"
ครั้นในเวลาเช้า ท่านพระอัสสชิครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไป
บิณฑบาตยังกรุงเวสาลี สัจจกะ นิครนถบุตรเดินเที่ยวเล่นอยู่ในกรุงเวสาลีได้เห็น
ท่านพระอัสสชิเดินอยู่แต่ไกล จึงเข้าไปหา ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้ถามว่า "ท่านพระอัสสชิ พระ
สมณโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร และคำสั่งสอนของพระสมณโคดมที่เป็นไปใน
พวกสาวกโดยส่วนมากเป็นอย่างไร"
ท่านพระอัสสชิตอบว่า "อัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำสาวก
ทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคที่เป็นไปในสาวกทั้งหลายโดย
ส่วนมากเป็นอย่างนี้ว่า 'รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลาย
ไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่อัตตา เวทนาไม่ใช่อัตตา สัญญาไม่ใช่อัตตา
สังขารทั้งหลายไม่ใช่อัตตา วิญญาณไม่ใช่อัตตา สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่อัตตา
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่อัตตา' พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำสาวกทั้งหลายอย่างนี้
และคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคที่เป็นไปในสาวกทั้งหลาย โดยส่วนมากเป็นอย่างนี้"
สัจจกะ นิครนถบุตรกล่าวว่า "ท่านพระอัสสชิ ข้าพเจ้าได้ฟังว่าพระสมณโคดม
มีวาทะอย่างนี้ ชื่อว่าฟังเรื่องที่ผิด ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจึงจะพบพระสมณโคดมนั้น
และสนทนากันสักครั้ง ทำอย่างไร ข้าพเจ้าจึงจะปลดเปลื้องพระสมณโคดมจาก
ทิฏฐิชั่วนั้นได้"

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :389 }