เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 4. จูฬโคปาลสูตร

4. จูฬโคปาลสูตร
ว่าด้วยคนเลี้ยงโค สูตรเล็ก
นายโคบาลผู้ไม่ฉลาด

[350] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา เมืองอุกกเจลา
แคว้นวัชชี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า "ภิกษุ
ทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว นายโคบาลชาวแคว้นมคธ เป็นคนโง่มา
แต่กำเนิด ในสารทสมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน มิได้พิจารณาฝั่งนี้และฝั่งโน้น
แห่งแม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโคให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ สถานที่
ที่มิใช่ท่า ครั้งนั้น ฝูงโคว่ายเข้าไปในวังน้ำวนกลางแม่น้ำคงคา ถึงความพินาศใน
แม่น้ำนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะนายโคบาลชาวแคว้นมคธนั้น เป็นคนโง่มาแต่
กำเนิด ในสารทสมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน มิได้พิจารณาฝั่งนี้และฝั่งโน้นแห่ง
แม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโคให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ สถานที่ที่มิใช่ท่า
แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ฉลาด
ในโลกนี้ ไม่ฉลาดในโลกหน้า ไม่ฉลาดในธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร1 ไม่ฉลาด

เชิงอรรถ :
1 ธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมาร หมายถึงธรรมอันเป็นไปในภูมิ 3 (ม.มู.อ. 2/350/174) อีกนัยหนึ่ง หมายถึง
มาร 5 จำพวก คือ (1) กิเลสมาร (2) ขันธมาร (3) อภิสังขารมาร (4) เทวปุตตมาร (5) มัจจุมาร (ม.มู.ฏีกา
2/350/245)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :384 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 4. จูฬโคปาลสูตร

ในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมาร1 ไม่ฉลาดในธรรมอันเป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ไม่ฉลาด
ในธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมัจจุ ชนเหล่าใดเข้าใจถ้อยคำของสมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นว่าเป็นถ้อยคำที่ตนควรฟัง ควรเชื่อ ความเข้าใจของชนเหล่านั้นจักเป็นไป
เพื่อสิ่งที่มิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน

นายโคบาลผู้ฉลาด

[351] ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว นายโคบาลชาวแคว้นมคธ เป็น
คนฉลาดมาแต่กำเนิด ในสารทสมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน พิจารณาฝั่งนี้
และฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโคให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ
สถานที่ที่เป็นท่า นายโคบาลนั้นต้อนเหล่าโคที่เป็นจ่าฝูงซึ่งเป็นผู้นำฝูงให้ข้ามไปก่อน
โคเหล่านั้นว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี จากนั้นจึงต้อนเหล่า
โคที่มีกำลังและโคที่ฝึกไว้ให้ข้ามไป โคเหล่านั้นว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึง
ฝั่งได้โดยสวัสดี จากนั้นจึงต้อนเหล่าโคหนุ่มสาวให้ข้ามไป โคเหล่านั้นว่ายตัด
กระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี จากนั้นจึงต้อนเหล่าลูกโคที่มีกำลังน้อย
ให้ข้ามไป โคเหล่านั้นก็ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี
ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ลูกโคเล็กที่เกิดในวันนั้นลอยไปตามเสียงโค
ที่เป็นแม่ แม้ลูกโคนั้นก็ว่ายตัดกระแสแม่น้ำคงคาข้ามไปถึงฝั่งได้โดยสวัสดี ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะนายโคบาลชาวแคว้นมคธนั้นเป็นคนฉลาดมาแต่กำเนิด ในสารท-
สมัยซึ่งเป็นเดือนท้ายแห่งฤดูฝน พิจารณาฝั่งนี้และฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา ต้อนฝูงโค
ให้ข้ามไปสู่ฝั่งเหนือของชาวแคว้นวิเทหะ ณ สถานที่ที่ใช่ท่า ฉันใด สมณะหรือ
พราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฉลาดในโลกนี้ ฉลาดในโลกหน้า

เชิงอรรถ :
1 ธรรมอันไม่เป็นที่อยู่แห่งมาร หมายถึงโลกุตตรธรรม 9 [คือ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1] (ม.มู.อ.
2/350/174)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :385 }