เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 2. มหาโคสิงคสูตร

ท่านพระเรวตะตอบว่า "ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความ
หลีกเร้นเป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในความหลีกเร้น หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับ
ใจภายในตน ไม่เหินห่างจากฌาน ประกอบด้วยวิปัสสนา1 เพิ่มพูนเรือนว่าง ท่าน
สารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้"

ทรรศนะของพระอนุรุทธะ

[335] เมื่อท่านพระเรวตะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับ
ท่านพระอนุรุทธะว่า "ท่านอนุรุทธะ ท่านเรวตะตอบตามปฏิภาณของตน บัดนี้
เราขอถามท่านอนุรุทธะในข้อนั้นว่า 'ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่าน
อนุรุทธะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร"
ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า "ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ย่อมตรวจดู
โลกธาตุ2 1,000 โลกธาตุด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ บุรุษผู้มีตาดีขึ้นปราสาท
อันโอ่อ่าชั้นบน จะพึงมองดูวงกลมแห่งกงล้อจำนวน 1,000 ได้ แม้ฉันใด ภิกษุ
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมตรวจดูโลกธาตุ 1,000 โลกธาตุ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้"

ทรรศนะของพระมหากัสสปะ

[336] เมื่อท่านพระอนุรุทธะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับ
ท่านพระมหากัสสปะว่า "ท่านกัสสปะ ท่านอนุรุทธะตอบตามปฏิภาณของตน
บัดนี้ เราขอถามท่านกัสสปะในข้อนั้นว่า 'ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์
ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่าน
กัสสปะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร"

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 65 (อากังเขยยสูตร) หน้า 57 ในเล่มนี้
2 โลกธาตุ ในที่นี้หมายถึงโลกธาตุขนาดเล็กที่เรียกว่าสหัสสีโลกธาตุ ประกอบด้วยจักรวาล 1,000 จักรวาล
1,000 โลกธาตุ = 1,000,000 จักรวาล (1,000 โลกธาตุ x 1,000 จักรวาล) (ม.มู.อ. 2/335/161,
องฺ.ติก.อ. 2/81/234) และดูเทียบ ที.ม. (แปล) 10/18/11, องฺ.ติก. (แปล) 20/81/306

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :368 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 2. มหาโคสิงคสูตร

ท่านพระมหากัสสปะตอบว่า "ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ตนเอง
อยู่ป่าเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ตนเองเที่ยว
บิณฑบาตเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
ตนเองถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือผ้าบังสุกุล
เป็นวัตร ตนเองถือไตรจีวรเป็นวัตร และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ถือ
ไตรจีวรเป็นวัตร ตนเองเป็นผู้มักน้อย และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย
ตนเองเป็นผู้สันโดษ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สันโดษ ตนเองเป็นผู้สงัด
และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สงัด ตนเองเป็นผู้ไม่คลุกคลี และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ไม่คลุกคลี ตนเองเป็นผู้ปรารภความเพียร และกล่าว
สรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้ปรารภความเพียร ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล และ
กล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ
และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมาธิ ตนเองเป็นผู้สมบูรณ์ด้วย
ปัญญา และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัญญา ตนเองเป็นผู้
สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติ ตนเอง
เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ และกล่าวสรรเสริญคุณแห่งความเป็นผู้สมบูรณ์
ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้"

ทรรศนะของพระมหาโมคคัลลานะ

[337] เมื่อท่านพระมหากัสสปะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้
กล่าวกับท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า "ท่านโมคคัลลานะ ท่านมหากัสสปะตอบตาม
ปฏิภาณของตน บัดนี้ ผมขอถามท่านมหาโมคคัลลานะในข้อนั้นว่า 'ป่าโคสิงค-
สาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น
กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านโมคคัลลานะ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วยภิกษุ
เช่นไร"
ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า "ท่านสารีบุตร ภิกษุ 2 รูปในพระ
ธรรมวินัยนี้ กล่าวอภิธรรมกถา เธอทั้ง 2 รูปนั้น ถามปัญหากันและกันแล้ว
ย่อมแก้กันเองไม่หยุดพัก และธรรมีกถาของเธอทั้ง 2 นั้นก็ดำเนินต่อไป ท่าน
สารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้"

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :369 }