เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [4. มหายมกวรรค] 2. มหาโคสิงคสูตร

[333] ท่านพระสารีบุตรได้เห็นท่านพระเรวตะและท่านพระอานนท์กำลัง
เดินมาแต่ไกล แล้วได้กล่าวกับท่านพระอานนท์ว่า "ท่านอานนท์ จงมาเถิด ท่าน
อานนท์ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค ผู้อยู่ใกล้พระผู้มีพระภาค ได้มาดีแล้ว
ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรีแจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่ง
ทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านอานนท์ ป่าโคสิงคสาลวันจะพึงงามด้วย
ภิกษุเช่นไร"

ทรรศนะของพระอานนท์

ท่านพระอานนท์ตอบว่า "ท่านสารีบุตร ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นพหูสูต
ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ1 เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงาม
ในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ ประกาศพรหมจรรย์
บริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปาก ขึ้นใจ และแทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ
ภิกษุนั้นแสดงธรรมแก่บริษัท 4 ด้วยบทและพยัญชนะที่เรียบง่ายและต่อเนื่องไม่
ขาดสายเพื่อถอนอนุสัย ท่านสารีบุตร ป่าโคสิงคสาลวันพึงงามด้วยภิกษุเช่นนี้"

ทรรศนะของพระเรวตะ

[334] เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าว
กับท่านพระเรวตะว่า "ท่านเรวตะ ท่านอานนท์ตอบตามปฏิภาณของตน บัดนี้
เราขอถามท่านเรวตะในข้อนั้นว่า 'ป่าโคสิงคสาลวัน เป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ ราตรี
แจ่มกระจ่าง ไม้สาละบานสะพรั่งทั่วทุกต้น กลิ่นดุจกลิ่นทิพย์ย่อมฟุ้งไป ท่านเรวตะ
ป่าโคสิงคสาลวัน จะพึงงามด้วยภิกษุเช่นไร"

เชิงอรรถ :
1 พหูสูต หมายถึงได้ศึกษาเล่าเรียนนวังคสัตถุศาสน์ (คำสอนของพระศาสดามีองค์ 9) มาครบถ้วนโดยบาลี
และอนุสนธิ ทรงสุตะ หมายถึงสามารถทรงจำนวังคสัตถุศาสน์นั้นไว้ได้แม่นยำ แม้เวลาผ่านไป 10 ปี 20 ปี
ก็ไม่ลืมเลือน เมื่อถูกถาม ก็สามารถตอบได้ สั่งสมสุตะ หมายถึงจดจำนวังคสัตถุศาสน์นั้นไว้ได้จนขึ้นใจ
ดุจรอยขีดที่หินคงอยู่ไม่ลบเลือน ฉะนั้น (ม.มู.อ. 2/333/159)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :367 }