เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 10. จูฬสาโรปมสูตร

เขาจึงไม่มัวเมา ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำญาณทัสสนะให้
สำเร็จ เพราะญาณทัสนะนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะญาณ-
ทัสสนะนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงไม่มัวเมา
ไม่ลืมตัว และไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทย่อมทำอสมยวิโมกข์ให้สำเร็จ เป็นไป
ไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นจะพึงเสื่อมจากอสมยวิมุตตินั้น
ภิกษุทั้งหลาย ดังพรรณนามาฉะนี้ พรหมจรรย์นี้จึงมิใช่มีลาภสักการะและความ
สรรเสริญเป็นอานิสงส์(ผลที่มุ่งหมาย) มิใช่มีความสมบูรณ์แห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่
มีความสมบูรณ์แห่งสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ แต่พรหมจรรย์
นี้มีเจโตวิมุตติอันไม่กำเริบเป็นเป้าหมาย เป็นแก่น เป็นที่สุด"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระ
ภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

มหาสาโรปมสูตรที่ 9 จบ

10. จูฬสาโรปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยแก่นไม้ สูตรเล็ก

[312] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่อปิงคลโกจฉะเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกัน
แล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
"ข้าแต่ท่านพระโคดม สมณพราหมณ์เหล่านี้ เป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็น
คณาจารย์ มีชื่อเสียง มียศ เป็นเจ้าลัทธิ ชนเป็นอันมากสมมติว่าเป็นคนดี คือ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :348 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 10. จูฬสาโรปมสูตร

ปูรณะ กัสสปะ1 มักขลิ โคสาล2 อชิตะ เกสกัมพล3 ปกุธะ กัจจายนะ4
สัญชัย เวลัฏฐบุตร5 นิครนถ์ นาฏบุตร6 สมณพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมดรู้อย่าง
ชัดเจนตามปฏิญญาของตน ๆ หรือทุกคนไม่รู้อย่างชัดเจนเลย หรือว่าบางพวกรู้
อย่างชัดเจน บางพวกไม่รู้อย่างชัดเจน"
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "อย่าเลย พราหมณ์ ข้อที่ว่าสมณพราหมณ์
พวกนั้นทั้งหมดรู้อย่างชัดเจน ตามปฏิญญาของตน ๆ หรือทุกคนไม่รู้อย่างชัดเจน
เลย หรือว่าบางพวกรู้อย่างชัดเจน บางพวกไม่รู้อย่างชัดเจนนั้น จงงดไว้เถิด เรา
จักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว"
ปิงคลโกจฉพราหมณ์ทูลสนองรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า

เชิงอรรถ :
1 คำว่า ปูรณะ เป็นชื่อของเขา เหตุที่มีชื่ออย่างนั้นเพราะเขาเป็นทาสคนที่ครบร้อยพอดี คำว่า กัสสปะ
เป็นชื่อโคตร รวมทั้งชื่อและโคตรเรียกว่า ปูรณกัสสปะ (ที.สี.อ. 1/151/130, ม.มู.อ. 2/312/140)
2 คำว่า มักขลิ เป็นชื่อที่ 1 ของเขา เหตุที่มีชื่ออย่างนั้นเพราะเขาเป็นคนถือหม้อน้ำมันเดินตามทางที่มี
เปือกตม มักจะได้รับคำเตือนจากนายว่า มา ขลิ (อย่าลื่นนะ) คำว่า โคสาล เป็นชื่อที่ 2 เพราะเขาเกิด
ในโรงโค (ที.สี.อ. 1/152/131, ม.มู.อ. 2/312/140)
3 คำว่า อชิตะ เป็นชื่อของเขา และได้ชื่อว่าเกสกัมพล ก็เพราะนุ่งห่มผ้าที่ทำด้วยผมของมนุษย์ (ที.สี.อ.
1/153/131, ม.มู.อ. 2/312/141)
4 คำว่า ปกุธะ เป็นชื่อของเขา คำว่า กัจจายนะ เป็นชื่อโคตรเรียกรวมทั้งชื่อและโคตรว่า ปกุธกัจจายนะ
(ที.สี.อ. 1/154/132, ม.มู.อ. 2/312/141)
5 คำว่า สัญชัย เป็นชื่อของเขา คำว่า เวลัฏฐบุตร เป็นชื่อที่ 2 เพราะเป็นบุตรของช่างสาน (ที.สี.อ.
1/155/132, ม.มู.อ. 2/312/141)
6 คำว่า นิครนถ์ เป็นชื่อของเขา ที่มีชื่ออย่างนั้นเพราะเขามักกล่าวว่า 'เราไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด' คำว่า นาฏบุตร
เป็นอีกชื่อหนึ่งของเขา เพราะเขาเป็นบุตรของนักฟ้อน (ที.สี.อ. 1/156/132, ม.มู.อ. 2/312/141)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :349 }