เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 8. มหาหัตถิปโทปมสูตร

หากโสตะที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ...
หากฆานะที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ...
หากชิวหาที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ...
หากกายที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ...
หากมโนที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ธรรมารมณ์ที่เป็นอายตนะ
ภายนอกไม่มาสู่คลองมโน ทั้งความใส่ใจอันเกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้นก็ไม่มี
วิญญาณส่วนที่เกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้นก็ไม่ปรากฏ
หากมโนที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลาย ธรรมารมณ์ที่เป็นอายตนะภาย
นอกมาสู่คลองมโน แต่ความใส่ใจอันเกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้นไม่มี วิญญาณ
ส่วนที่เกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้นก็ไม่ปรากฏ
แต่เมื่อใด มโนที่เป็นอายตนะภายในไม่แตกทำลายธรรมารมณ์ที่เป็นอายตนะ
ภายนอกมาสู่คลองมโน ทั้งความใส่ใจอันเกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้นก็มี เมื่อนั้น
วิญญาณส่วนที่เกิดจากมโนและธรรมารมณ์นั้น ย่อมปรากฏด้วยอาการอย่างนี้
รูปแห่งสภาพอย่างนั้นจัดเข้าในรูปูปาทานขันธ์ เวทนาแห่งสภาพอย่างนั้นจัด
เข้าในเวทนูปาทานขันธ์ สัญญาแห่งสภาพอย่างนั้นจัดเข้าในสัญญูปาทานขันธ์
สังขารทั้งหลายแห่งสภาพอย่างนั้นจัดเข้าในสังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณแห่งสภาพ
อย่างนั้นจัดเข้าในวิญญาณูปาทานขันธ์ ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า 'การรวบรวม
การประชุม และหมวดหมู่แห่งอุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้มีได้ด้วยประการอย่างนี้'
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ไว้ว่า 'ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท
ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท' อุปาทานขันธ์ 5
ประการนี้ ชื่อว่าปฏิจจสมุปปันนธรรม ความพอใจ ความอาลัย ความยินดี
หมกมุ่นฝังใจในอุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้ ชื่อว่าทุกขสมุทัย การกำจัดความ
กำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจในอุปาทาน-
ขันธ์ 5 ประการนี้ ชื่อว่าทุกขนิโรธ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุได้ชื่อว่าทำตาม
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างมากแล้ว"
ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมภาษิต
ของท่านพระสารีบุตร ดังนี้แล

มหาหัตถิปโทปมสูตรที่ 8 จบ


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 9. มหาสาโรปมสูตร

9. มหาสาโรปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยแก่นไม้ สูตรใหญ่
กิ่งและใบแห่งพรหมจรรย์

[307] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ เมื่อ
พระเทวทัตจากไปแล้วไม่นาน ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระเทวทัต
ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรบางคนในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตด้วยคิดว่า 'เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส
และอุปายาสครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว
ทำอย่างไร การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้' เขาบวชแล้วอย่างนั้นทำ
ลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญ
นั้น เขาจึงปลื้มใจและมีความรู้สึกสมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงยกตนข่มผู้อื่นว่า 'เรามีลาภสักการะและความสรรเสริญ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้
ไม่มีชื่อเสียง มีศักดิ์น้อย' เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงมัวเมา
ลืมตัว และประมาท เมื่อประมาทย่อมอยู่เป็นทุกข์
ภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้น
ไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ กระพี้ เปลือก และสะเก็ดไป
เข้าใจกิ่งและใบว่า 'แก่นไม้' จึงตัดนำไป บุรุษผู้มีตาดีเห็นเขาแล้วจะพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า 'ท่านผู้นี้ ไม่รู้จักแก่นไม้ กระพี้ เปลือก สะเก็ด กิ่งและใบ แท้จริง
ท่านผู้นี้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่ เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่น
ยืนต้นอยู่ กลับมองข้ามแก่นไม้ กระพี้ เปลือก และสะเก็ดไป เข้าใจกิ่งและใบว่า
'แก่นไม้' จึงตัดนำไป อนึ่ง กิจที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักไม่สำเร็จประโยชน์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :340 }