เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 8. มหาหัตถิปโทปมสูตร

เป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดาเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุนั้นก็ไม่มีความ
ยึดถือในเตโชธาตุภายนอกนี้ ฯลฯ เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระ
ธรรม และระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ ถ้าอุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมดำรงอยู่ได้
ด้วยดี ภิกษุนั้นย่อมพอใจเพราะเหตุนั้น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุได้ชื่อว่าทำตาม
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างมากแล้ว

วาโยธาตุ

[305] วาโยธาตุ เป็นอย่างไร
คือ วาโยธาตุภายในก็มี วาโยธาตุภายนอกก็มี
วาโยธาตุภายใน เป็นอย่างไร
คือ อุปาทินนกรูปภายใน ที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา มีความ
พัดไปมา ได้แก่ ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้
ลมที่แล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรืออุปาทินนกรูป
ภายในอื่นใด ที่เป็นของเฉพาะตน เป็นของพัดไปมา มีความพัดไปมา นี้เรียกว่า
วาโยธาตุภายใน
วาโยธาตุภายในและวาโยธาตุภายนอกนี้ ก็เป็นวาโยธาตุนั่นเอง บัณฑิตพึง
เห็นวาโยธาตุนั้นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้ว่า 'นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา' บัณฑิตครั้นเห็นวาโยธาตุนั้นตามความเป็นจริง
ด้วยปัญญาอันชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในวาโยธาตุ และทำจิตให้คลายกำหนัด
จากวาโยธาตุ
เวลาที่วาโยธาตุภายนอกกำเริบย่อมจะมีได้ วาโยธาตุภายนอกนั้นย่อมพัดพา
บ้านไปบ้าง นิคมไปบ้าง นครไปบ้าง ชนบทไปบ้าง บางส่วนของชนบทไปบ้าง
เวลาที่ชนทั้งหลายแสวงหาลมด้วยพัดใบตาลบ้าง ด้วยพัดสำหรับพัดไฟบ้าง
ในเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อน แม้ในที่ชายคา หญ้าทั้งหลายก็ไม่ไหว ย่อมจะมีได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :335 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 8. มหาหัตถิปโทปมสูตร

วาโยธาตุภายนอกซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้นยังปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความสิ้นไป
เป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา ไฉนกาย
ซึ่งตั้งอยู่ชั่วเวลาเล็กน้อยนี้ที่ถูกตัณหาเข้าไปยึดถือว่า 'เรา' ว่า 'ของเรา' ว่า 'เรา
มีอยู่' จักไม่ปรากฏเป็นของไม่เที่ยง มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไป
เป็นธรรมดา มีความแปรผันไปเป็นธรรมดาเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุนั้นก็ไม่มีความ
ยึดถือในวาโยธาตุภายนอกนี้
หากชนเหล่าอื่นจะด่า บริภาษ เกี้ยวกราด เบียดเบียนภิกษุนั้น ภิกษุนั้น
รู้ชัดอย่างนี้ว่า 'ทุกขเวทนาอันเกิดจากโสตสัมผัสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ทุกขเวทนา
นั้นอาศัยเหตุจึงเกิดขึ้นได้ ไม่อาศัยเหตุก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไรจึง
เกิดขึ้นได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยผัสสะจึงเกิดขึ้นได้' ภิกษุนั้นย่อมเห็นว่า 'ผัสสะเป็น
ของไม่เที่ยง เวทนาเป็นของไม่เที่ยง สัญญาเป็นของไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็น
ของไม่เที่ยง วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง' จิตของภิกษุนั้นย่อมดิ่งไป ย่อมผ่องใส
ดำรงมั่นและน้อมไปในอารมณ์คือธาตุนั่นแล

ผู้ทำตามพระโอวาท

หากชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้นด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่
น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ คือ การทำร้ายด้วยฝ่ามือบ้าง การทำร้ายด้วยก้อนดินบ้าง
การทำร้ายด้วยท่อนไม้บ้าง การทำร้ายด้วยศัสตราบ้าง ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
'กายนี้มีสภาพเป็นที่รองรับการทำร้ายด้วยฝ่ามือบ้าง การทำร้ายด้วยก้อนดินบ้าง
การทำร้ายด้วยท่อนไม้บ้าง การทำร้ายด้วยศัสตราบ้าง' อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้
ตรัสไว้ในพระโอวาทที่อุปมาด้วยเลื่อย1 ว่า 'ภิกษุทั้งหลาย หากพวกโจรผู้ประพฤติ
ต่ำทราม จะพึงใช้เลื่อยที่มีที่จับ 2 ข้างเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ผู้มีใจคิดร้ายแม้ใน

เชิงอรรถ :
1 ดูข้อ 232 (กกจูปมสูตร) หน้า 244 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :336 }