เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 7. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

บริบูรณ์ครบถ้วน คหบดี บุตรคหบดี หรืออนุชน(คนผู้เกิดภายหลัง)ในตระกูลใด
ตระกูลหนึ่งย่อมฟังธรรมนั้น ครั้นได้ฟังธรรมนั้นแล้วเกิดศรัทธาในตถาคต เมื่อมี
ศรัทธาย่อมตระหนักว่า 'การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด เป็นทางแห่งธุลี การ
บวชเป็นทางปลอดโปร่ง การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน ดุจสังข์ขัด มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด' ต่อมา เขาละทิ้งกอง
โภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาว-
พัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

สิกขาและสาชีพของภิกษุ

[292] เขาเมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ1
เสมอด้วยภิกษุทั้งหลาย คือ
1. ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความ
ละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่
2. ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของ
ที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่
3. ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์
เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรม2อันเป็นกิจของชาวบ้าน
4. ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์
มีถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
5. ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไป
บอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มา
บอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคน

เชิงอรรถ :
1 สิกขา หมายถึงไตรสิกขา คือ อธิสีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา แต่ในที่นี้หมายเอาอธิสีลสิกขา
สาชีพ หมายถึงสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสำหรับภิกษุผู้อยู่ร่วมกัน ผู้ดำเนินชีวิตร่วมกัน มี
ความประพฤติเสมอกัน (ม.มู.อ. 2/292/113) และดู วิ.มหา. (แปล) 1/45/33, องฺ.ทสก. (แปล) 24/99/235
2 เมถุนธรรม หมายถึงการร่วมประเวณี การร่วมสังวาส กล่าวคือการเสพอสัทธรรมอันเป็นประเวณีของ
ชาวบ้านมีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่จะต้องทำในที่ลับ เป็นการกระทำของคนที่เป็นคู่ ๆ (วิ.มหา. 1/55/36)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :323 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 7. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

ที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดี เพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่
ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
6. ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำที่ไม่มีโทษ ไพเราะ
น่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ
7. ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง
พูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน
มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์เหมาะแก่เวลา
[293] 8. เว้นขาดจากการพรากพืชคาม1และภูตคาม2
9. ฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลา
วิกาล3
10. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการ
ละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล
11. เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้
ของหอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว
12. เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่
13. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
14. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ4
15. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
16. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี

เชิงอรรถ :
1 พืชคาม หมายถึงพืชพันธุ์จำพวกที่ถูกพรากจากที่แล้ว ยังสามารถงอกขึ้นได้อีก (ม.มู.อ. 2/293/116,
ที.สี.อ. 1/11/78)
2 ภูตคาม หมายถึงของเขียว หรือพืชพันธุ์อันเกิดอยู่กับที่มี 5 ชนิด คือ ที่เกิดจากเหง้า เช่นกระชาย,
เกิดจากต้น เช่น โพ, เกิดจากตา เช่น อ้อย, เกิดจากยอด เช่น ผักชี, เกิดจากเมล็ด เช่น ข้าว (ม.มู.อ.
2/293/116, ที.สี.อ. 1/11/78)
3 ฉันในเวลาวิกาล คือ เวลาที่ห้ามไว้เฉพาะแต่ละเรื่อง เวลาวิกาลในที่นี้หมายถึงผิดเวลาที่กำหนดไว้
คือตั้งแต่หลังเที่ยงวันจนถึงเวลาอรุณขึ้น (ม.มู.อ. 2/293/116, ที.สี.อ. 1/10/75)
4 ธัญญาหารดิบ ในที่นี้หมายถึงธัญชาติ 7 ชนิด คือ (1) ข้าวสาลี (2) ข้าวเปลือก (3) ข้าวเหนียว
(4) ข้าวละมาน (5) ข้าวฟ่าง (6) ลูกเดือย (7) หญ้ากับแก้ (ม.มู.อ. 2/293/117)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :324 }