เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 6. ปาสราสิสูตร

อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานมีความ
ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดจากสมาธิอยู่ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า 'ผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุข' ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไป
ก่อนแล้ว ภิกษุบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่
เราเรียกภิกษุนี้ว่า 'ผู้ทำให้มารตาบอด คือ ทำลายดวงตาของมารอย่างไม่มีร่องรอย
ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น'
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตตสัญญา
โดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า 'อากาศ
หาที่สุดมิได้' เราเรียกภิกษุนี้ว่า 'ผู้ทำให้มารตาบอด คือ ทำลายดวงตาของมาร
อย่างไม่มีร่องรอย ถึงการที่มารใจบาปมองไม่เห็น'
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า 'วิญญาณหาที่สุดมิได้' ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่โดยกำหนดว่า 'ไม่มีอะไร' ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ฯลฯ
ภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดย
ประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ก็เพราะเห็นด้วยปัญญา เธอ
ย่อมมีอาสวะสิ้นไป เราเรียกภิกษุนี้ว่า 'ผู้ทำให้มารตาบอด คือ เป็นผู้ที่มารใจ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :316 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 7. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

บาปมองไม่เห็นเพราะทำลายดวงตาของมารอย่างไม่มีร่องรอย' เป็นผู้ข้ามพ้น
ตัณหาอันข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ ในโลกได้ ย่อมวางใจ เดิน ยืน นั่ง นอน
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไม่ได้ดำเนินอยู่ในทางของมารใจบาป"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

ปาสราสิสูตรที่ 6 จบ

7. จูฬหัตถิปโทปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยรอยเท้าช้าง สูตรเล็ก

[288] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พราหมณ์ชื่อชาณุสโสณิออกจาก
กรุงสาวัตถีด้วยรถคันใหญ่ที่เทียมด้วยลาซึ่งมีเครื่องประดับทุกอย่างล้วนเป็นสีขาว
ในเวลาเที่ยงวัน ชาณุสโสณิพราหมณ์ได้เห็นปริพาชกชื่อปิโลติกะเดินมาแต่ไกล
ครั้นเห็นแล้วได้กล่าวกับปิโลติกปริพาชกอย่างนี้ว่า "นี่แน่ะ ท่านวัจฉายนะผู้เจริญ
มาจากไหนแต่ยังวัน1"
ปิโลติกปริพาชกตอบว่า "ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาจากสำนักของพระสมณ-
โคดมนั่นแล"
"ท่านวัจฉายนะ เห็นจะเข้าใจความเฉียบแหลมแห่งปัญญาของพระสมณโคดมว่า
พระองค์เป็นบัณฑิต หรืออย่างไร"
"ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าเป็นใครเล่าจึงจักรู้ความเฉียบแหลมแห่งปัญญาของ
พระสมณโคดมได้ แม้ผู้ที่จะรู้ความเฉียบแหลมแห่งปัญญาของพระสมณโคดมได้ ก็
พึงเป็นเช่นพระสมณโคดมโดยแน่แท้"

เชิงอรรถ :
1 แต่ยังวัน ในที่นี้หมายถึงเวลาช่วงเช้า (ม.มู.อ. 2/288/103)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :317 }